หมูดิบ-เนื้อดิบ-ผักสดล้างไม่สะอาด เสี่ยง “พยาธิตืดหมู” หากไชสมองเสี่ยงเสียชีวิต

หมูดิบ-เนื้อดิบ-ผักสดล้างไม่สะอาด เสี่ยง “พยาธิตืดหมู” หากไชสมองเสี่ยงเสียชีวิต

หมูดิบ-เนื้อดิบ-ผักสดล้างไม่สะอาด เสี่ยง “พยาธิตืดหมู” หากไชสมองเสี่ยงเสียชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาหารสุกๆ ดิบๆ มักเป็นอาหารรสดีรสแซ่บที่ชาวไทยส่วนใหญ่ชอบทานกัน โดยเฉพาะชาวไทยภาคอีสานกับเมนูอย่าง ลาบก้อย ลาบลู่ ที่มักใส่หมูดิบ หรือเลือดวัวสดๆ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหาร แต่หมูดิบ เนื้อสัตว์ดิบ รวมถึงผักสดที่เก็บตามพื้นดินที่ใช้ปุ๋ยคอก (ปุ๋ยจากมูลสัตว์) ที่ไม่ล้างทำคามสะอาดให้ดี อาจเป็นแหล่งของไข่พยาธิตืดหมู (รวมถึงพยาธิอื่นๆ) ได้

“พยาธิตืดหมู” คืออะไร?

พยาธิตืดหมู เป็นพยาธิตัวแบนซึ่งเป็นกระเทย (Hermaphrodite) เนื่องจากมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียอยู่ในปล้องเดียวกัน ตัวเต็มวัยมีลักษณะเป็นปล้องแบน (Proglottid) ต่อเป็นสายยาวเป็นเมตร  เหตุที่ชื่อว่าพยาธิตืดหมูเนื่องจากมีหมูเป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง

พยาธิตืดหมู กับโรคอันตราย

พยาธิตืดหมูทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 ชนิด คือ

  1. โรคพยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้ ที่เรียกว่าโรค ทีนิเอซีส (Taeniasis)

  2. โรคที่มีพยาธิตัวอ่อนในถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์เม็ดสาคู เข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของคน เรียกว่าโรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis)

โรคซีสติเซอร์โคซิส เป็นอย่างไร?

โรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) สามารถเกิดได้ทั้งคน และหมูโดยตัวอ่อนจะฝังตัวตามอวัยวะต่างๆ คนจะได้รับเชื้อนี้โดยการรับประทานไข่พยาธิ ขนาด 31-45 ไมโครเมตร (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ที่ออกมากับอุจจาระ และปนเปื้อนอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด เมื่อหมู และคนได้รับไข่พยาธิ ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อ

เมื่อตัวอ่อนออกจากไข่พยาธิ ตัวอ่อนจะไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังกล้ามเนื้อ สมอง ตับ และเนื้อเยื่ออื่นๆ เจริญเป็นตัวอ่อนในถุงน้ำเรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ประมาณ 0.5-1.5 ซม. ซึ่งอาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่รุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ เรียกว่า ซีสติเซอร์โคซีส (หรือซีสต์เม็ดสาคู)

พยาธิตืดตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน พยาธิตืดตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็กได้หลายปี ปล้องสุกมีลักษณะสี่เหลี่ยมแบน มองเห็นด้วยตาเปล่า ขนาดประมาณ 1×1.5 ซม. (ซึ่งมีไข่มี่มีตัวอ่อนอยู่ภายใน อัดอยู่เต็มแขนงมดลูก) ซึ่งอยู่ส่วนปลายจะหลุดออกจากตัวเต็มวัย ปล้องสุกนี้เคลื่อนที่ได้ จึงอาจคืบคลานออกมาทางรูทวารได้เอง บางครั้งผู้ป่วยจะนำปล้องสุกมาให้แพทย์ดูด้วย ปล้องสุกอาจจะแตกก่อนที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และปล่อยไข่ปะปนออกมากับอุจจาระของคน และกระจายอยู่ในธรรมชาติ รอเวลาเข้าสู่คนหรือหมูต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงของการติดพยาธิตืดหมู

  1. ดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิ เช่น ผัก ผลไม้ ที่ผลิตผลอยู่บนดินหรือมีหัวอยู่ในดิน เช่น สตรอเบอรี่ แครอท หัวไชเท้า รวมทั้งพืชผักที่ใช้อุจจาระของคน หรือสัตว์เป็นปุ๋ย เป็นต้น

  2. รับประทานตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อของหมู (มีลักษณะเม็ดขาวๆ เหมือนเม็ดสาคูกระจายอยู่ในเนื้อหมู) ซึ่งทำเป็นอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ หมู น้ำตก แหนมดิบ เป็นต้น

  3. จากการที่ขย้อนปล้องสุกเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เหมือนเรากินไข่พยาธิเข้าไปกับอาหาร

  4. จากการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ใช้มือล้างหรือเกาบริเวณทวารหนัก แล้วมีไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้นติดนิ้วมือไป ถ้าผู้ป่วยไม่ล้างมือแล้วใช้มือจับอาหารเข้าปาก หรืออมนิ้ว ก็จะได้ไข่พยาธิเข้าปากของตัวเอง

อาการของคนที่มีพยาธิตืดหมูในร่างกาย

  • รับประทานอาหารเก่งขึ้น เพราะพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้จะแย่งอาหาร

  • หิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด

  • ปวดท้อง ท้องอืด

  • คลื่นไส้ อาเจียน

  • อุจจาระบ่อย อาการทั้งหมดเกิดขึ้นเนื่องจากมีการระคายเคืองต่อลำไส้

  • มีภาวะซีด

  • อาจถ่ายออกมาพร้อมปล้องสุกของพยาธิ เป็นเส้นยาวๆ แบนๆ สีขาวอมเหลือง

  • หากเกิดซีสต์ อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของซีสต์ เช่น พบก้อนใต้ผิวหนัง ซีสต์อยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว แต่หากเกิดซีสต์ที่เนื้อสมอง อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ ชัก มือเท้าชา วิงเวียนศีรษะ เป็นลม

  • หากมีอาการมากๆ อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้

การรักษาหากมีพยาธิตืดหมูในร่างกาย

หากมีซีสต์พยาธิตัวตืดในอวัยวะต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ถ้าไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นที่สมองและมีอาการ เช่น ชัก ปวดศีรษะมาก อาจต้องให้ ยารักษา หรือผ่าตัดตามความเหมาะสม

การป้องกันพยาธิตืดหมู

  1. ไม่กินเนื้อหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบดิบ ลู่ แหนมสด

  2. หากซื้อเนื้อหมูต้องคอยสังเกตลักษณะของเนื้อหมู ไม่ควรรับประทานหากพบว่ามีตุ่มขาวเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ในเนื้อหมู

  3. ล้างมือให้สะอาด ฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ตนเอง และผู้อื่นทางการปนเปื้อนอาหารได้

  4. ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้มือจับอาหารเข้าปาก

  5. ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิตัวตืดปะปนมาได้ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีลักษณะของหัวที่อยู่ใต้ดิน

  6. ไม่ใช้อุจจาระคนเป็นปุ๋ยรดต้นผัก

  7. ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน เพราะเป็นการทำให้ไข่อยู่ในดิน และหมูมากินเข้าไปได้

  8. เลี้ยงหมูในคอกที่ถูกสุขลักษณะ อย่าปล่อยให้หมูหาอาหารกินเอง เพราะอาจได้รับไข่พยาธิในดินได้ และอาหารที่เลี้ยงหมูต้องระวังอย่าให้ปนเปื้อนอุจจาระของคน

  9. สำหรับผู้ทำอาหารหรือเตรียมอาหาร ต้องล้างมือ ฟอกสบู่ ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร

  10. ถ้าเดินทางไปประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำ และอาหารเป็นพิเศษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook