"แสงสีฟ้า" ภัยใกล้ตัว อันตรายของการติดจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

"แสงสีฟ้า" ภัยใกล้ตัว อันตรายของการติดจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

"แสงสีฟ้า" ภัยใกล้ตัว อันตรายของการติดจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ทุกช่วงชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์ ต้องใช้และพึ่งพาเทคโนโลยีตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใด ก็มักมีคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานติดต่อกัน อาทิ เล่นสมาร์ทโฟนในที่มืด หรือปิดไฟดูโทรทัศน์ คุณอาจถูก “แสงสีฟ้า” จากหน้าจอของอุปกรณ์เหล่านั้นเล่นงานได้ ส่วนผลกระทบจากแสงสีฟ้า มีอะไรบ้างนั้น ลองไปดูกัน

 

แสงสีฟ้า (Blue Light) คืออะไร?

แสงที่มนุษย์ทุกคนสามารถมองเห็นได้ในช่วงแสงสีขาว ซึ่งแสงขาวแบ่งได้ 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง โดยแสงสีฟ้าจะผสมอยู่ในช่วงสีน้ำเงินกับคราม ทั้งนี้ แสงสีฟ้ายังเป็นแสงที่มีพลังงานสูงใกล้เคียงรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) อีกด้วย

สำหรับ “แสงสีฟ้า” นั้น สามารถพบได้รอบ ๆ ตัวของคุณ จากแสงแดดหรือในสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ อย่างสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้กันตลอดเวลาในปัจจุบัน จนหลงลืมไปว่า การใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเวลานานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา เนื่องจากแสงสีฟ้าเป็นช่วงแสงที่มีความสว่างสูงสุด ถึงขั้นสามารถทะลุมาจนถึงจอประสาทตานั่นเอง

 

มีโอกาสสัมผัสแสงสีฟ้า จากที่ใดบ้าง?

ในชีวิตประจำวันการหลบเลี่ยงจากแสงสีฟ้าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแสงสีฟ้ามีทั้งเกิดจากแหล่งพลังงานธรรมชาติ และจากสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ แต่จะมีปริมาณความเข้มข้นของแสงสีฟ้าแตกต่างกันไป

  • แหล่งพลังงานธรรมชาติ อาทิ ดวงอาทิตย์ (แสงแดด) เป็นต้น

  • สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ อาทิ หลอดไฟในบ้าน หน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน เป็นต้น

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ จากแสงสีฟ้า

การทำงานของดวงตา คือ การที่เลนส์ตาทำหน้าที่รวมแสงไปยังจอประสาทตา เพื่อให้คุณสามารถมองเห็นภาพ แต่ทั้งนี้ หากภาพดังกล่าวมีความสว่างมากจนเกินไป ไม่ว่าเพราะเล่นสมาร์ทโฟนในที่มืด หรือปิดไฟดูโทรทัศน์ เมื่อคุณต้องใช้สายตากับกิจกรรมเหล่านี้เป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายตา อาทิ

 

  • จอประสาทตาเสื่อม

แม้โรคจอประสาทตาเสื่อม โดยมากจะพบในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่หากพฤติกรรมการดําเนินชีวิตของคุณยังผูกติดอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารอย่างคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลานาน ย่อมทำให้เสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้เช่นกัน (แม้จะอายุ 20-30 ปี) และหากอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นตาบอด

  • ดวงตาล้า จากการจ้องหน้าจอนานๆ

อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่คุณใช้สมาธิในการเพ่งมองภาพหรือข้อความที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน เป็นเวลานานติดต่อกัน อาจทำให้ดวงตาของคุณมีอาการอ่อนล้าจากการใช้งานหนัก และยังตามมาด้วยอาการระคายเคืองตา เจ็บตา ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ตาอ่อนไหวต่อแสงแดด หรือมองภาพไม่ชัดเจน

 

วิธีการดูแลดวงตาแบบง่ายๆ

  1. ลดความสว่างหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์

  2. พักสายตา ด้วยการเปลี่ยนไปมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปสัก 20 เมตร หรืออะไรที่เป็นสีเขียว ทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาที จะช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของสายตาได้

  3. ลองกระพริบตา 4-5 ครั้ง เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงดวงตามากขึ้น

  4. ปรับขนาดตัวอักษรในหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม เพื่อลดการเพ่งของสายตา

  5. ติดฟิล์มลดแสง/กรองแสงที่หน้าจออุปกรณ์ เพื่อให้ดวงตาของคุณได้รับแสงสีฟ้าในปริมาณที่น้อยลง

  6. ปรับระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจออุปกรณ์ ให้อยู่ประมาณ 18-24 นิ้ว

  7. สวมแว่นกรองแสง เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากแสงสีฟ้า

  8. ไม่ควรใช้งานคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน นานเกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง แต่ถ้ามีความจำเป็น อาจใช้วิธีพักสายตาด้วยการหลับตา หรือละสายตาไปมองสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบแทน

  9. ควรใช้งานคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ในพื้นที่ที่มีแสงสว่างโดยรอบที่เหมาะสม และไม่สว่างจ้า จนตัดกับแสงที่เกิดจากหน้าจอเกินไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook