“เนื้อวัวฉีดไขมัน” คืออะไร? อันตรายหรือไม่?

“เนื้อวัวฉีดไขมัน” คืออะไร? อันตรายหรือไม่?

“เนื้อวัวฉีดไขมัน” คืออะไร? อันตรายหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จู่ๆ ก็มีกระแสข่าวในโลกออนไลน์ถึง “เนื้อวัวฉีดไขมัน” หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องฉีดไขมันในเนื้อวัว แล้วเราสามารถทานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ Sanook! Health มีคำตอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) มาฝากกัน

 

เนื้อวัวฉีดไขมัน คืออะไร?

นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เนื้อวัวฉีดไขมัน (Artificial Marbling beef) เป็นการฉีดของเหลวที่มีส่วนประกอบของไขมัน น้ำ และวัตถุเจือปนอาหาร โดยใช้เครื่องจักรหรือเครื่องมือที่มีลักษณะ  เป็นเข็ม เข้าไปในเนื้อวัว ทำให้ได้เนื้อวัวที่มีลักษณะไขมันแทรก เนื้อวัวนุ่ม รสชาติดี น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น

 

เนื้อวัวฉีดไขมัน อันตรายหรือไม่?

จริงๆ แล้วหากเป็นบริษัท โรงงาน หรือผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำตามขั้นตอนต่างๆ อย่างเคร่งครัด และได้รับอนุญาตให้ผลิตอย่างถูกต้องจาก อย. เนื้อวัวฉีดไขมันก็สามารถทานได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ อย. เผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์เนื้อวัวฉีดไขมันได้รับอนุญาตจาก อย. ดังนั้นหากผู้บริโภคทานแล้วได้รับอันตรายใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากผู้บริโภคจะเสียสุขภาพโดยไม่ทันตั้งตัวแล้ว ผู้ผลิตก็ได้รับโทษเช่นกัน

 

รายละเอียดต่อผู้ผลิต ก่อนจำหน่ายเนื้อวัวฉีดไขมัน

การฉีดไขมันในเนื้อวัว ต้องได้รับการเห็นชอบจาก อย. ก่อน โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย จะต้องแสดงรายละเอียดของกรรมวิธีการผลิตในการฉีดไขมัน เงื่อนไขการใช้วัตถุเจือปนอาหารพร้อมเหตุผลการใช้และมาตรฐานอ้างอิง ซึ่งหากไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะต้องยื่นขอประเมินความปลอดภัยของวัตถุเจือปนอาหารก่อน รวมทั้งแสดงฉลากอาหาร แนวทางการควบคุมการผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย เช่น จำหน่ายเฉพาะร้านอาหาร หรือมาตรการป้องกันความเข้าใจผิดของผู้บริโภคว่า เป็นเนื้อโคที่มีไขมันแทรกธรรมชาติ ประกอบการพิจารณา

สถานที่ผลิตเนื้อฉีดไขมัน จะต้องปฏิบัติตามวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย (Primary GMP) และการใช้วัตถุเจือปนอาหารในการผลิตเนื้อฉีดไขมัน ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ตลอดจนต้องมีการแสดงฉลากให้ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีควรบริโภคก่อน ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร และข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น และต้องมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บนฉลากอาหารว่าเป็นเนื้อโคฉีดไขมัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อโคที่มีไขมันแทรกธรรมชาติ

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เนื้อโคฉีดไขมันแต่อย่างใด หากผู้ใดประสงค์จะผลิตหรือนำเข้า จะต้องขอความเห็นชอบจาก  อย. ก่อน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook