7 คำแนะนำสำหรับพนักงานออฟฟิศ
Tonkit360 มีข้อแนะนำดีๆ จากข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การลดพฤติกรรมเนือยนิ่งและการนอนหลับ สำหรับพนักงานบริษัท โดย กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาฝากพนักงานบริษัทหรือพนักงานออฟฟิศกันว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เพื่อลดอาการเมื่อยล้าจากการทำงานในแต่ละวันและระหว่างวัน
-
ไม่ควรนั่งนานๆ ควรลุกเดินบ้าง
การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ระบบเลือดไหลเวียนไม่สะดวก และส่งผลต่ออาการปวดเรื้อรังของกล้ามเนื้อ และข้อกระดูก รวมถึงก่อให้เกิดมีภาวะอ้วนได้ด้วย จึงควรมีการขยับร่างกาย เช่น เดินเข้าห้องน้ำ ลุกขึ้นยืน ยืดเหยียดร่างกายทุกๆ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้การเดินวันละ 1 พันก้าว ยังเพียงพอต่อการช่วยแก้ปัญหาความบกพร่อง ของการไหลเวียนเลือดที่เกิดจากการนั่งนานๆ ได้อีกด้วย
-
ปรับท่าทางนั่งทำงานให้เหมาะสม
ปรับท่าทางนั่งทำงานให้เหมาะสม ไม่ก้มไปทางด้านหน้าเอนตัว ไปทางด้านหลัง เอียงตัวไปทางด้านข้าง หรือมีการบิดตัวมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวได้ เวลาทำงานหัดนั่งตัวตรง ปล่อยตัวตามสบาย อย่าให้ไหล่งอ และไม่ควรนั่งขัดสมาธิเวลาใช้คอมนานๆ เพราะจะทำให้เมื่อยมากกว่าเดิม 2 เท่า หาหมอนขนาดพอเหมาะมารองพนักพิงหลัง เพื่อรองรับกระดูกสันหลังจะช่วยลดอาการเมื่อยได้
-
ปรับระยะของเก้าอี้ หาเก้าอี้นั่งทำงานที่มีความกว้างพอดี
เก้าอี้ทำงานควรมีความกว้าง และความลึกที่เหมาะสม (ไม่แคบหรือกว้างเกินไป) ควรมีระยะของช่องว่างระหว่างข้อพับเข้ากับเก้าอี้ ประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีที่พักแขนและพนักพิงหลัง โดยเก้าอี้ที่มีที่พักแขนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลายมากขึ้น ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณแขน และหัวไหล่ในขณะนั่งทำงานได้ดี ส่วนพนักพิงหลังจะต้องมีที่รองรับบริเวณส่วนเอว โดยจะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังเกิดการผ่อนคลายมากขึ้น ลดการเกร็งและการล้าของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง และเม้าส์ควรจะเป็นแทรกกิ้งบอล หรือเมาส์แบบไร้สายที่นำมาใกล้ตัวได้ ใช้ถนัดไม่ต้องยื่นแขน
-
ตั้งจอคอมให้อยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย
การทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ ซึ่งควรตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากผู้ใช้ประมาณ 40-75 เซนติเมตร และหน้าจอจะต้องอยู่ไม่ต่ำกว่า 30 องศาของระดับสายตา เลือกใช้จอแบบ LED เพื่อลดการสะท้อนของเงาและช่วยถนอมสายตา หลีกเลี่ยงการก้มหรือเงยศีรษะมากเกินไป สำหรับแป้นคีย์บอร์ดที่ใช้ในการพิมพ์ ควรอยู่ในระดับข้อศอกหรือข้อมือ จะได้ไม่ต้องยกแขนขึ้นมาพิมพ์ให้เสี่ยงต่อการปวดเมื่อย
-
ไม่ถือโทรศัพท์ในท่าไม่เหมาะสม
ยกตัวอย่าง เช่น พูดโทรศัพท์โดยหนีบโทรศัพท์ไว้ที่บริเวณซอกคอ เพราะจะทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ (โทรศัพท์ควรวางอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากผู้ใช้ไม่เกิน 30 เซนติเมตร) ในกรณีที่ผู้ใช้จำเป็นที่จะต้องใช้มือในการทำงาน และไม่สามารถจับโทรศัพท์ได้สะดวก ควรหาอุปกรณ์เสริมเพื่ออำนวยความสะดวก และช่วยลดท่าทางที่ไม่เหมาะสม ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น อุปกรณ์สวมศีรษะ แฮนด์ฟรี
-
บริหารร่างกาย เพื่อสร้างความทนทานของระบบหัวใจไหลเวียนเลือด
ควรบริหารร่างกายเพื่อสร้างความทนทานของระบบหัวใจไหลเวียนเลือด และบริหารกายเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ความทนทานของกล้ามเนื้อทุกๆ ส่วน อย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมาก เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับสรีรภาพให้รับกับสภาพการณ์ใหม่ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดใด ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของการออกกำลังกาย โดยทั่วไปมีอยู่ 2 ชนิดคือชนิดเคลื่อนที่ และชนิดอยู่กับที่
-
ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้คลายตัว
การยืดกล้ามเนื้อเป็นการสร้างเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และช่วยเผาผลาญในร่างกายไปด้วยในตัว ดังนั้นจึงควรทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อในระหว่างการทำงาน เช่น ช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย เพื่อให้กล้ามเนื้อได้คลายตัวได้ง่าย ลดปัญหาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ครบทุกส่วนของร่างกาย และเมื่อมีเวลาควรยืดกล้ามเนื้อ 5-7 ครั้งต่อสัปดาห์