ออกกำลังกายแบบ “แอโรบิค” และ “แอนแอโรบิค” ต่างกันอย่างไร?

ออกกำลังกายแบบ “แอโรบิค” และ “แอนแอโรบิค” ต่างกันอย่างไร?

ออกกำลังกายแบบ “แอโรบิค” และ “แอนแอโรบิค” ต่างกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายยลวรณัฏฐ์  จีรัชตกรณ์
งานสร้างเสริมสุขภาพ
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

“แอโรบิค” หมายถึง การออกกำลังกายที่ร่างกายต้องการใช้ออกซิเจน

“แอนแอโรบิค”  หมายถึง การออกกำลังกายที่ร่างกายไม่ใช้ออกซิเจน

ระหว่างการออกกำลังกายในระดับปานกลางถึงหนัก เช่น การวิ่งระยะ 100 เมตร  การปั่นจักรยานหรือทำกิจกรรมใด ๆ อย่างรวดเร็ว ร่างกายจะต้องทำงานอย่างหนักถึงขั้นที่ว่าระบบหลอดเลือดหัวใจไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อได้รวดเร็วพอ ลองนึกดูนะครับหากคุณเป็นนักวิ่งแข่งระยะ 100 เมตร ในขณะที่กำลังวิ่งด้วยความเร็ว คุณจะไม่สามารถหายใจได้อย่างสะดวกหรืออาจจะไม่ได้หายใจเลย เพราะระดับความหนักของงานมีมาก ทำให้คุณออกแรงจนถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้เพียงพอกับความต้องการ เราเรียกว่า การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค ซึ่งจะพบว่าตนเองหอบเหนื่อยโดยสามารถคงระดับความหนักได้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ระหว่างช่วง การออกกำลังกายแบบแอโรบิค คุณจะออกกำลังกายด้วยระดับความหนักที่กำลังพอดี นั่นหมายถึงว่าระบบหลอดเลือดหัวใจของคุณจะสามารถส่งออกซิเจนไปให้กล้ามเนื้อและคงระดับการออกกำลังกายขณะนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ 

 

การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ออกกำลังกายให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60-80 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด

อัตราการเต้นหัวใจสูงสุด (Maximam HR) = 220-อายุ 

วิธีการคำนวณให้คิด 2 ครั้งและรักษาระดับอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ระหว่างสองค่านี้   
220-อายุ x 0.60 , 220-อายุ x 0.80 

ประโยชน์ที่ได้รับ : พัฒนาสมรรถภาพของหลอดเลือดหัวใจและสร้างความทนทาน เพิ่มความสามารถในการใช้ออกซิเจนสูงสุด และเผาผลาญแคลอรี่จำนวนมาก เป็นการลดน้ำหนักได้อีกด้วย

 

การออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค ออกกำลังกายให้อัตราของหัวใจอยู่ที่ 80-90 เปอร์เซนต์ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด 

วิธีการคำนวณเหมือนกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เพียงแต่เปลี่ยนเปอร์เซนต์ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดเป็น 80-90

ประโยชน์ที่ได้รับ : สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความทนทาน ช่วยให้คุณออกแรงหนัก ๆ ได้นานขึ้น และเผาผลาญแคลอรี่ได้มากจากความหนักที่มากขึ้น

ดังนั้นลองเลือกดูนะครับว่าเราจะฝึกอย่างไรแต่ที่สำคัญจะต้องไม่หักโหมค่อย ๆ ทำไป และสำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนหรือเพิ่งเริ่มต้น ควรฝึกแบบแอโรบิกก่อน เมื่อมีความแข็งแรงมากขึ้น จึงเพิ่มรูปแบบการฝึกแบบแอนแอโรบิคเพื่อความปลอดภัยครับ

 

 

___________________

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook