7 สัญญาณอันตราย ได้เวลารักษา “รากฟัน”
อาการปวดฟัน อาจสามารถบ่งบอกถึงอาการผิดปกติของฟันได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ ฟันคุด ฟันร้าว หรือเหงือกอักเสบ แต่หากเป็นอาการที่บ่งบอกว่ารากฟันของคุณได้เวลาเข้ารับการซ่อมแซมโดยด่วน มักจะมีสัญญาณอันตรายที่มากกว่าแค่ปวดฟัน
สัญญาณอันตราย ได้เวลารักษา “รากฟัน”
- มีอาการปวดฟันตุ๊บๆ ตามจังหวะการเต้นของชีพจร
- เจ็บ หรือปวดฟันเวลาเคี้ยว หรือกัดอาหาร
- ปวด และบวมเหงือก จากอาการเหงือกติดเชื้อ
- ปวดเมื่อฟันกระทบกัน
- ปวดฟันโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดฟัน แม้กระทั่งเวลานอนตอนกลางคืน
- ปวดฟัน โดยไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้น เช่น น้ำเย็น หรืออาหารหวาน
ทำไมเราต้องรักษารากฟัน?
รากฟันอาจมีความผิดปกติจากการติดเชื้อ อักเสบ จากอาการฟันผุทะลุไปจนถึงโพรงประสาทฟัน มีฟันที่ร้าว หรือแตกไปจนถึงโพรงประสาทฟัน ฟันได้รับแรกกระแทกจนเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ จนทำให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายโพรงประสาทฟันด้านในได้
ทำอย่างไร เมื่อต้องรักษารากฟัน
ปัจจุบันมีวิธีรักษารากฟันมากมายที่เกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของรากฟันที่ถูกทำลาย และดุลยพินิจของแพทย์ เริ่มตั้งแต่การกรอฟันเพื่อเปิดทางเข้าสู่โพรงประสาทฟัน กำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก ล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อุดคลองรากฟันเพื่อไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้ามาอีก จากนั้นจึงค่อยๆ กลับมาบูรณะรากฟัน ตั้งแต่การฝังรากฟันเทียม การปลูกกระดูก ปลูกเนื้อเหงือก (หากจำเป็น) รวมไปถึงการอุดฟันให้ฟันกลับมามีรูปร่างลักษณะดังเดิม ผู้ป่วยสามารถใช้ฟันเคี้ยวอาหาร และดูแลทำความสะอาดด้วยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติ
การรักษาฟันอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันโพรงประสาทฟันถูกทำลาย
- ทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หรือใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
- ไม่ใช้ฟันในการงับ กัดของแข็งๆ หรือกัดดึงถุงเหนียวๆ เพราะอาจทำให้ฟันเสียหายได้
- หากประสบอุบัติเหตุที่ทำให้ฟันเสียหาย เช่น ฟันบิ่น ราว แตก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
- หากมีอาการปวดฟัน ปวดเหงือก หรือมีความผิดปกติอื่นๆ เช่น มีกลิ่นปากรุนแรง ควรรีบพบทันตแพทย์
- พบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน