3 วิธีถนอม “ข้อเข่า” ไม่ให้เสื่อมก่อนวัยอันควร
ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้ารับการรักษา หรือผ่าตัดข้อเข่า ด้วยเหตุข้อเข่าอักเสบ และข้อเข่าเสื่อม อันเนื่องมาจากความสมบูรณ์ของข้อกระดูกลดลงไปตามอายุขัย รวมไปถึงการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก และไม่ได้รับการดูแลอย่างดีเท่าที่ควร แต่หากคุณไม่อยากเป็นคนชราที่มีอาการเจ็บเข่าตั้งแต่ยังหนุ่มๆ สาวๆ คุณหมอสก็อต มาร์ติน รองศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมออร์โทพีดิกส์ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แนะนำเคล็ดลับในการดูแลข้อเข่าของตัวเองให้แข็งแรง ยืดระยะเวลาในการใช้งานได้ยาวนานขึ้นมาฝากกัน
-
ลดน้ำหนัก
ส่วนสำคัญที่จะรักษาสุขภาพข้อเข่าเอาไว้ได้ นั่นคือการลดภาระในการแบกรับน้ำหนักทั้งตัวของเราของข้อเข่าลงให้ได้มากที่สุด ทราบหรือไม่ว่าหากเราลดน้ำหนักลงได้ 0.45 กิโลกรัม เราจะสามารถลดแรงดันในเข่าได้มากเท่ากับน้ำหนัก 1.35 กิโลกรัมเลยทีเดียว (และยังลดแรงดันในกระดูกข้อต่อของสะโพกได้มากถึง 2.7 กิโลกรัมอีกด้วย) หากคุณเป็นโรคปวดข้อ เพียงลดน้ำหนักลงไปได้ราว 6.8 กิโลกรัม จะสามารถบรรเทาอาการปวดเข่าไปได้ครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้หากรีบลดน้ำหนักก่อนที่จะมีอาการปวดเข่า จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าจนต้องเข้ารับการผ่าตัดได้อีกด้วย
หากกังวลว่าข้อเข่าไม่ค่อยแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สามารถออกกำลังกายเพื่อช่วยลดน้ำหนักของร่างกายด้วยวิธีที่ไม่รบกวนการทำงานของกระดูกข้อเข่ามากเกินไปได้ เช่น ว่ายน้ำ เดิน หรือขี่บนเครื่องออกกำลังกายอย่างจักรยาน เป็นต้น
-
ระมัดระวังในการใช้งานข้อเข่า
ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของร่างกายก็ควรให้ความสำคัญกับการใช้งานอย่างทะนุถนอม เช่นเดียวกับข้อเข่าที่อาจสะสมการใช้งานอย่างหนักมาแรมปี จนเกิดอาการบาดเจ็บ อักเสบ หรือเสื่อมการใช้งานลงได้ นอกจากการลดการกระแทกกระทั้นโดยไม่มีการวอล์มร่างกายก่อน หรือใช้งานเข่าหนักโดยไม่จำเป็นแล้ว การยืน เดินหลังตรง ก็ช่วยลดความเสี่ยงของอาการปวดเข่าได้เช่นกัน รวมไปถึงรักษาสภาพของกระดูกคอ และสะโพกในคราวเดียวกันด้วย
นอกจากนี้ยังควรระมัดระวังในการยกของหนัก ควรยกให้ถูกท่า โดยลงไปนั่งยองๆ หลังตรง จับของไว้ แล้วยกขึ้นมาช้าๆ ด้วยแรงดันจากเท้า น่องขา และเข่า ไม่ก้มตัวลงไปยกของหนักจากพื้นหรือที่ต่ำๆ แล้วยกขึ้นมาทีเดียวเร็วๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการเคล็ดขัดยอกตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายได้ หากยกของหนักๆ แล้วทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ให้รีบหยุดยกทันที
-
ลดอาการปวดทันที
เมื่อมีอาการปวดเข่า อย่าปล่อยให้มีอาการปวดแบบนั้นอยู่นานๆ ควรรีบรักษาอาการปวดด้วยการหายาแก้ปวดมาทาน สามารถเลือกกลุ่มยาตระกูล NSAIDs อย่าง ไอบูโพรเฟน หรือนาโปรเซนได้ ยาสองชนิดนี้สามารถหาซื้อทานได้ตามร้านขายยาทั่วไป ควรทานตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด แต่หากมีประวัติแพ้ยาตระกูล NSAIDs หรือไม่แน่ใจในอาการปวดข้อของตัวเอง ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนทานยา เพราะยาตระกูล NSAIDs อาจมีผลข้างเคียงในบางรายได้ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือ ตับ/ไตได้รับความเสียหาย เป็นต้น
หากไม่เคยมีประวัติแพ้ยาตระกูล NSAIDs สามารถทานยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรได้ และควรใช้บรรเทาอาการปวดในระยะสั้นๆ เท่านั้น ไม่ควรทานยาแก้ปวดติดต่อกันเกิน 5 วัน หากอาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 5 วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์
หากอาการปวดเข่าไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าการใช้ข้อเข่าเทียมจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้มากกว่า แต่การเดินด้วยข้อเข่าของตัวเองน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงวันที่ไม่ได้ใช้ข้อเข่าของตัวเอง เราควรรักษา และทะนุถนอมข้อเข่าของตัวเองเอาไว้ให้ได้ยาวนานที่สุดจะดีกว่า