ดูให้ดี ! "ตำลึง" มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย กินผิดอาจทำให้ท้องเสียได้
"ตำลึง" เป็นผักที่สามารถหารับประทานได้ง่าย เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้จากการที่นกกินผลตำลึงเข้าไปแล้วขับถ่ายเป็นเมล็ดออกมา ซึ่งมันจะเจริญเติบโตและแตกยอดได้ดีในช่วงฤดูฝน
สารอาหารที่มีอยู่ใน "ตำลึง"
ตำลึง นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง อาทิ สารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน อีกทั้งยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอาซิน วิตามิน และสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้มหาวิทยามหิดล พบว่า ตำลึงมีเส้นใยอาหารที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ ส่วนในตำรับยาโบราณได้ระบุไว้ว่า ตำลึง เป็นยาเย็น ส่วนของใบช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาหารแพ้ อักเสบ แก้แมลงที่มีพิษกัดต่อย แก้แสบคัน แก้เจ็บตา ตาแฉะ ตาแดง บรรเทาโรคผิวหนัง ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
สำหรับคุณสาวๆ คนไหนที่เป็นคุณแม่ลูกอ่อน ตำลึง เป็นผักที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก อุดมไปด้วยโปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินหลากหลายชนิด อีกทั้งยังมีเส้นใยสูง ช่วยบำรุงน้ำนม ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยได้
ไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตเท่านั้นที่มี "เพศ"
ไม่ได้พิมพ์หัวข้อผิดแต่อย่างใด แต่จะบอกเอาไว้ว่าผักอย่าง ตำลึง ก็มีเพศได้เช่นเดียวกัน ลองสังเกตกันดูสักหน่อยว่าแกงจืดที่เรากำลังจะรับประทาน หรือทำให้ลูกน้อยได้ทานได้เป็นตำลึงประเทศไหนกันแน่ มีความต่างกันอย่างไร แล้วทำไมถึงจำเป็นต้องแยกเพศ ลองมาอ่านข้อมูลที่เราเอามาฝากกัน
ใบตำลึงเพศผู้
สำหรับใบตำลึงเพศผู้จะมีลักษณะมีหยักที่มากกว่า คนส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมารับประทาน ใครที่ธาตุในร่างกายไม่ดี เมื่อทานใบ หรือยอดตำลึงเพศผู้เข้าไปก็อาจทำให้ท้องเสีย หรือถ่ายไม่หยุดได้ แต่ตำลึงเพศผู้นี้ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน คือ มีสรรพคุณทางยา ช่วยดับพิษร้อน แก้ไข้ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ดีต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน อีกทั้ง ยังสามารถนำใบไปตำเพื่อใช้พอกผิดหนังแก้พิษของแมลงสัตว์กัดต่อยและแก้เริมได้ ส่วนดอกตำลึงก็ใช้ได้เมื่อเกิดอาการคันที่ผิวหนัง รากก็ใช้เป็นยาแก้ไข้และลดการอาเจียนได้
ใบตำลึงเพศเมีย
สำหรับใบตำลึงเพศเมียนี้มีวางขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป มีลักษณะใบค่อนข้างมน ขอบใบจะหยักไม่มาก สามารถนำมาปรุงอาหารได้ ปลอดภัยมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นตำลึงเพศผู้ หรือเพศเมีย ต่างก็เป็นผักที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายของเราทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องเลือกนำมาใช้ให้ถูก ที่สำคัญต้องสังเกตลักษณะของตำลึงให้ดีก่อนนำมาบริโภคด้วย ไม่อย่างนั้นประโยชน์ที่ควรจะเกิดจะกลับกลายเป็นโทษที่ส่งผลเสียได้อย่างไม่รู้ตัว