แบบทดสอบ คุณติด "โซเชียล" มากแค่ไหน?
ในมุมมองทางสุขภาพจิต โซเชียลมีเดียช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม สร้างความรู้สึกของการมีตัวตนให้กับคนจำนวนมาก หลายคนแม้จะใช้โซเชียลมีเดียอยู่เสมอ แต่อาจเป็นเพียงลักษณะนิสัยและความเคยชินที่อาจก่อให้เกิดความรำคาญ ส่งผลถึงความสัมพันธ์ และเมื่อใช้มากๆ ก็อาจกลายเป็นการ “เสพติด” ที่ส่งผลให้เกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เหงา สมาธิสั้น ได้
หากสงสัยว่าคุณติดโซเชียลมีเดีย ลองเช็คเบื้องต้นด้วย Bergen Social Media Addiction Scale ตอบคำถาม 6 ข้อ และให้คะแนนดังนี้
0 คะแนน = น้อยมาก
1 คะแนน = น้อย
2 คะแนน = บางครั้ง
3 คะแนน = ค่อนข้างบ่อย
4 คะแนน = บ่อยมาก
แบบทดสอบ คุณติด "โซเชียล" มากแค่ไหน?
- ฉันใช้เวลามากในการคิด (หมกมุ่น) ถึงโซเชียลมีเดีย หรือวางแผนการใช้โซเชียลมีเดีย
- ฉันรู้สึกว่ามีแรงกระตุ้นให้ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ
- ฉันใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้ลืมปัญหาส่วนตัว
- ฉันพยายามลดการใช้โซเชียลมีเดียแต่ก็ไม่สำเร็จ
- ฉันเริ่มกระสับกระส่ายหรือไม่สบายใจถ้าถูกห้ามไม่ให้ใช้โซเชียลมีเดีย
- ฉันใช้โซเชียลมีเดียมากจนก่อให้เกิดผลเสียต่อการงานหรือการเรียน
หากมีคำตอบอย่างน้อย 4 ข้อ ที่ได้ 3 คะแนนขึ้นไป (ค่อนข้างบ่อยถึงบ่อยมาก) ถือว่าคุณมีโอกาส “ติดโซเชียลมีเดีย” ส่วนจะ "ติด" หรือ "ไม่ติด" โซเชียลมีเดียอย่างแท้จริงนั้นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
ทำอย่างไร หากฉันกำลังเสพติดโซเชียล
นอกจากการหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อดึงความสนใจของตัวเองจากโลกโซเชียล เช่น ท่องเที่ยว พูดคุยกับเพื่อน และคนในครอบครัว ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ชมละครหรือภาพยนตร์แล้ว กรมสุขภาพจิตยังแนะนำวิธีฝึกสมาธิ เพื่อลดความหมกมุ่นในการเล่นโซเชียลเอาไว้ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 คือการฝึกจับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกให้รู้ว่าหายใจออก ไม่ต้องนับหรือใช้ถ้อยคำใดๆ
ขั้นตอนที่ 2 ระหว่างฝึกจับลมหายใจ หากมีความคิดใดๆผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ขอให้เพียงแค่รู้ตัวและปล่อยให้ความคิดนั้นผ่านเลยไป ให้หันความสนใจมาที่ลมหายใจเท่านั้น ข้อสำคัญคืออย่าสั่งตัวเองให้หยุดคิด เพราะจะทำให้จิตว้าวุ่น ไม่สงบ
ขั้นตอนที่ 3 คือการฝึกจัดการกับความง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อจิตสงบแล้ว โดยให้ยืดตัวตรง หายใจเข้าออกแรงๆสัก 5-6 ครั้ง หรือใช้วิธีจินตนาการหลอดไฟที่สว่างจ้าสักครู่หนึ่ง หากหายง่วงแล้วให้กลับไปตามรู้ลมหายใจให้ต่อเนื่องต่อไป
ควรทำสมาธิหลังตื่นนอนใหม่ๆ เพราะร่างกายยังสดชื่นอยู่ ส่วนช่วงก่อนนอน ลองฝึกรู้ลมหายใจจนหลับไปจะทำให้นอนหลับได้ลึก และผ่อนคลายได้ดี ขณะนี้รพ.จิตเวชนครพนมฯได้ให้ผู้ใช้บริการทุกคนฝึกสมาธิ สติ ก่อนรับบริการตรวจรักษา และฝึกผู้ป่วยในที่มีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อสามารถดูแลตัวเองครบถ้วนทั้งกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ