กินยาอย่างไร ให้ถูกต้องและปลอดภัย?

กินยาอย่างไร ให้ถูกต้องและปลอดภัย?

กินยาอย่างไร ให้ถูกต้องและปลอดภัย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การใช้ยาให้ถูกกับโรคที่คุณกำลังเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ “การใช้ยาที่ถูกวิธี” ด้วยยาที่แพทย์สั่งจ่ายมานั้น มีทั้งยาก่อนอาหาร หลังอาหาร และมีข้อห้ามในการทานยาบางประเภท แล้วทานยาอย่างไรให้ถูกต้องตามฉลาก วันนี้ Tonkit360 มีคำตอบมาฝาก

วิธีการใช้ยาตามฉลากให้ถูกต้องยาก่อนอาหาร

เมื่อเห็นคำว่า “ยาก่อนอาหาร” อยู่บนฉลาก หลายคนอาจเข้าใจว่า อีกไม่กี่นาที ก่อนลุกไปทานข้าว ค่อยหยิบยามากินก็ได้ นั่นคือความเข้าใจผิด ๆ เพราะยาก่อนอาหาร แท้จริงแล้วเป็นยาที่คุณต้องทานก่อนประมาณ 30-60 นาที และควรรับประทานขณะที่ท้องว่าง

ยาหลังอาหาร

หลังทานข้าวเสร็จ คุณยังไม่ต้องรีบหยิบซองยาขึ้นมาแกะ นั่งเล่นให้ข้าวเรียงเม็ดสักประมาณ 15-30 นาที จึงค่อยลุกไปทานยาหลังอาหาร ตามที่แพทย์สั่งจ่ายมาให้คุณก็ได้

 

ยาพร้อมอาหาร

หากฉลากระบุว่า “ยาพร้อมอาหาร” แสดงว่าหลังที่คุณทานอาหารคำแรกแล้ว ก็ควรกินยาตามไปทันที หรือคุณจะกินยาหลังจากทานอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่งก็ได้

 

ยาฆ่าเชื้อ

เวลาเจ็บป่วย หลายคนก็เดินโซเซไปหาหมอ พอได้ยามาทานให้อาการบรรเทา ก็รู้สึกว่า อาการป่วยเราหายแล้ว ไม่จำเป็นต้องทานยาอีกต่อไป นั่นเป็นเรื่องที่ผิด เพราะยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาแก้อักเสบ จัดเป็นยาที่ผู้ป่วยต้องทานให้หมดตามคำสั่งแพทย์ เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรค เพราะหากมีอาการดื้อยา จะส่งผลให้ในครั้งต่อไป ไม่สามารถใช้ยาชนิดเดิม ขนาดเดิม ในการรักษาได้อีก

 

ยาก่อนนอน

สำหรับยาก่อนเข้านอนนั้น หากคุณรู้ตัวว่า กำลังจะปิดทีวี ปิดไฟนอนแล้ว ก็ควรลุกขึ้นมาทานยาก่อนเข้านอน ประมาณ 15-30 นาที

 

ยาที่ต้องทานสัปดาห์ละครั้ง

หากแพทย์หรือเภสัชไม่ได้ระบุวันที่ชัดเจนไว้ ให้คุณเลือกเองเลยว่า ต้องการทานยาดังกล่าววันไหน อาทิ เริ่มทานยาในวันพุธ ก็ขอให้ทานยานั้นทุกวันพุธ เป็นต้น

 

ยาตามอาการ 

อาทิ ยาพาราเซตามอล ที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการไข้และอาการปวดหัวนั้น ส่วนใหญ่ถูกกำหนดไว้ว่า ผู้ใหญ่ หากมีอาการปวด ให้ทานยาครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ฉะนั้น หากทานยาแล้ว ผ่านไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง ยังคงมีอาการปวดอยู่ ก็ยังไม่ควรทานยาเพิ่ม อาจทำให้เกิดพิษจากยาเกินขนาดได้

 

หากลืมรับประทานยา

เชื่อว่า หลายคนคงเคยลืมทานยา พอนึกขึ้นก็รีบลุกไปทานยาทันที แต่หากช่วงเวลาที่คุณหลงลืมไปนั้น ใกล้ถึงเวลาในมื้อต่อไป ก็ขอให้ข้ามมื้อที่ลืมไป อย่าคิดทานยาย้อนหลัง ด้วยการเพิ่มจำนวนยาเป็น 2 เท่าในมื้อถัดไปเด็ดขาด

 

ยาประเภทใดบ้าง ที่ไม่ควรทานคู่กันยาลดไขมัน ยาหัวใจ หรือยาขยายหลอดลม

สำหรับยาทั้ง 3 ชนิดนั้น เป็นยาปฏิชีวนะประเภทหนึ่ง หากทานคู่กันแล้วจะทำปฏิกิริยากันและอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี อาทิ มีผลให้ระดับยาในเลือดของยาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น

 

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด กับ ยาหรืออาหารเสริม

ผู้ป่วยที่ต้องทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ควรทานยาดังกล่าวคู่กับยาหรืออาหารเสริมเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

ยาฆ่าเชื้อบางกลุ่ม กับ ยาลดกรด แคลเซียม หรือวิตามินบางชนิด

หากคุณทานยาฆ่าเชื้อคู่กับยาลดกรด แคลเซียม หรือวิตามินบางชนิด จะทำให้การดูดซึมของยาฆ่าเชื้อลดลง เป็นผลให้ฤทธิ์ของยาลดลง

 

ห้ามทานยา พร้อมเครื่องดื่มประเภทใดนม

เนื่องจากนมมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นการขัดขวางการดูดซึมยา เป็นผลให้ยาไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ แคลเซียมในนมยังมีผลต่อการดูดซึมของยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ  เพราะ แคลเซียมที่ว่าจะเข้าไปจับตัวยาปฏิชีวนะ ทำให้ยาปฏิชีวนะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ควรได้รับการรักษาด้วยตัวยาได้

ขณะเดียวกัน การทานนมพร้อมยาลดกรด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เมื่อทานคู่กัน แคลเซียมในนมอาจไปขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาลดกรด หรืออาจไปเพิ่มสารบางในร่างกายที่ทำให้ยาลดกรดถูกดูดซึมเข้าไปในระบบลำไส้ ก็อาจเป็นการสะสมพิษหรือยาในร่างกายได้

 

กาแฟ

หลายคนคงคิดว่า เมื่อหาน้ำเปล่าไม่ได้การทานยาคู่กับกาแฟในมือ ก็คงไม่ส่งผลกระทบอะไร แต่รู้ไหมว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อคุณทานยาในกลุ่มแก้หวัดหรือยาขยายหลอดลม เพราะฤทธิ์ของคาเฟอีนทำให้หัวใจคุณเต้นเร็วขึ้น เช่นเดียวกับยาขยายหลอดลมที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อกินพร้อมกันอาจเกิดอาการใจสั่น รวมทั้งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หรือในคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว

 

คาเฟอีน

เจ้าสารที่ชื่อว่า “คาเฟอีน” นั้น ไม่ได้มีอยู่แค่ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังอยู่ในเครื่องดื่มประเภทชา ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลมประเภทโคล่า รวมถึงเครื่องดื่มประเภทชูกำลังด้วย ฉะนั้น หากคุณเผลอทานยาขยายหลอดลมคู่กับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอยู่ อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน

 

น้ำผลไม้

แม้น้ำผลไม้จะถูกมองว่า เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่การทานน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว (มีกรด) อย่างน้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะขาม หรือน้ำมะเขือเทศ คู่กับยาลดกรด อาจทำให้คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ตกอยู่ในภาวะร่างกายหลั่งกรดเกินปกติ

 

น้ำอัดลม

นอกจาก จะมีคาเฟอีนแฝงอยู่แล้ว น้ำอัดลมยังมีกรดด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรทานยาพร้อมน้ำอัดลมเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องทานยาขยายหลอดลม เพราะจะไปกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เร็วขึ้น ส่วนคนที่เป็นโรคกระเพาะ การทานยาลดกรดกับน้ำอัดลม อาจทำให้ตัวยาไม่สามารถลดกรดในกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากยาหมดฤทธิ์เสียก่อน

สำหรับใครที่ทานยาซึ่งมีผลกระตุ้นประสาท การทานยาพร้อมน้ำอัดลมที่ผสมคาเฟอีน เป็นผลให้ยาเริ่มออกฤทธิ์ช้าลง หรือฤทธิ์ของยาลดลง จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยา

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เชื่อว่า หลายคนคงไม่อุตริทานยากับเหล้า เบียร์ หรือค็อกเทลแน่ ๆ แต่ในคนที่มีภาวะพิษสุราเรื้อรัง การดื่มหนักจนแฮงก์ แล้วต้องมาพึ่งพายาพาราเซตามอล เพื่อแก้เมาค้าง นั่นเป็นการทำร้ายตับแบบซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะตับวาย

 

ส่วนคนที่ทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท อาทิ ยาแก้แพ้ต่าง ๆ ยานอนหลับ หรือยาแก้โรคซึมเศร้า หากเผลอดื่มแอลกอฮอล์พร้อมกับยาเหล่านั้น อาจทำให้รู้สึกง่วงซึม หรือขาดสมาธิมากขึ้น และถ้ามีฤทธิ์รุนแรงมาก อาจทำให้คุณหมดสติหรือหยุดหายใจได้เลย แม้แต่ยาคุมกำเนิด ถ้าทานคู่กับแอลกอฮอล์ ก็มีผลให้เลือดข้นขึ้นจนไปอุดตันที่ปอดหรือสมอง

เป็นเช่นนี้แล้ว สรุปได้ว่า การทานยาอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด คือ “การทานยาคู่กับน้ำเปล่า” นั่นเอง นอกจากนี้ ก่อนทานยาควรอ่านฉลากกำกับยาให้ชัดเจนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook