เรื่องน่ารู้ของการผ่าตัด "กระเพาะอาหาร" เพื่อ "ลดน้ำหนัก"
อ.นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผู้ที่กำลังเผชิญภาวะอ้วน อ้วนมาก ทำอย่างไรก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ บางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปัญหาต่อสุขภาพ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร มาดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก คือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลง และอาจจะมีการผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารใหม่ ทำให้การดูดซึมอาหารลดลงด้วย ทั้ง 2 กลไกนี้จะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารแล้วรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และก็ทำให้น้ำหนักลดลงในที่สุด
โดยทั่วไปการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักมี 2 วิธีหลักๆ
วิธีแรก Laparoscopic Sleeve Gastrectomy คือ ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะให้เล็กลงอย่างเดียว วิธีนี้ขนาดกระเพาะจะคล้ายๆ กับไส้กรอกยาวๆ เรียกสั้นๆ ว่า การผ่าตัดแบบ Sleeve
วิธีที่สอง Laparoscopic Gastric Bypass คือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร และมีการทำทางเดินอาหารใหม่ด้วย ทำให้มีการดูดซึมอาหารลดลง วิธีนี้เรียกสั้นๆ ว่า Bypass
ทั้ง 2 วิธีนี้ ทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักลดลงได้ และโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจดีขึ้น หรือในบางครั้งหายขาดได้ วิธีไหนเหมาะกับผู้ป่วยรายไหนขึ้นอยู่ที่น้ำหนัก และโรคประจำตัวต่างๆ ของแต่ละราย
สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
อันดับแรก ผู้ป่วยต้องตรวจดัชนีมวลกาย หรือ BMI ของตัวเองก่อนว่าเข้าได้กับข้อบ่งชี้ที่กล่าวมาข้างต้น คือมีภาวะโรคอ้วนระดับ 3 ค่าดัชนีมวลกาย หากเข้าได้กับข้อบ่งชี้และได้ลองพยายามลดน้ำหนัก การคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างเต็มที่แล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้ ควรเข้ามาติดต่อที่ คลินิกผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ทุกวันอังคาร เวลา 12.00 - 15.00 น. เพื่อพบแพทย์ซึ่งจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัด และมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดทุกระบบ เพื่อดูความพร้อมก่อนการผ่าตัด
นอกจากนั้นต้องพยายามลดน้ำหนักด้วยตัวเองก่อนอย่างน้อย 5-10 % เพื่อการผ่าตัดที่ปลอดภัยมากขึ้น โดยทั่วไปการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวไว นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลระยะสั้น 1-2 คืนก็กลับบ้านได้แล้ว แต่หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องกลับมาตรวจทุกๆ 3 เดือนในช่วง 1 ปีแรก เพื่อดูว่ามีผลแทรกซ้อนระยะยาวหลังผ่าตัดหรือไม่ น้ำหนักลดลงหรือไม่ และโรคประจำตัวต่างๆ ของคนไข้ดีขึ้นหรือไม่
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาสุขภาพ ไม่ใช่การผ่าตัดเพื่อรักษาความสวยงาม อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารไปแล้ว ไม่มีการควบคุมพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ท่านสามารถกลับมาอ้วนได้เช่นเดิมอีก
___________________
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล