ทำไมก่อนกินควรอ่าน “ฉลากโภชนาการ” ก่อนทุกครั้ง?

ทำไมก่อนกินควรอ่าน “ฉลากโภชนาการ” ก่อนทุกครั้ง?

ทำไมก่อนกินควรอ่าน “ฉลากโภชนาการ” ก่อนทุกครั้ง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเราเลือกซื้ออาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว อาหารหวาน อาหารแห้ง ขนมคบเคี้ยวต่างๆ เครื่องปรุง และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยตามร้านค้าต่างๆ ล้วนแล้วแต่มาพร้อมกับ “ฉลากโภชนาการ” ที่มีประโยชน์ต่อการเลือกซื้อเลือกหาอาหารให้เราได้เลือกก่อนทานได้มาก เราควรสังเกตตรงส่วนไหนอย่างไร Sanook! Health มีวิธีมาบอก

 

ฉลากโภชนาการ คืออะไร?

ฉลากโภชนาการ เป็นฉลากที่บ่งบอกถึงรายละเอียดของส่วนประกอบในอาหารชนิดนั้นๆ รวมสารอาหาร และพลังงานที่เราจะได้รับหลังทานอาหารชนิดนั้นๆ เข้าไปในร่างกาย  ดังนั้นฉลากโภชนาการจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รักสุขภาพ ที่อยากหลีกเลี่ยงส่วนประกอบของอาหารที่อาจทำร้ายร่างกาย ผู้ป่วยที่แพทย์สั่งให้ลด หรืองดการทานอาหารบางประเภท รวมทั้งผู้ที่แพ้อาหารบางชนิด ที่ควรส่องดูส่วนประกอบของอาหารชนิดนั้นๆ ก่อนซื้อมาทาน

 

ผู้ที่ควรใส่ใจอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้ออาหารทานมากเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันเส้นเลือด เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น

  • ผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก

  • ผู้ที่แพ้อาหารบางชนิด

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงส่วนประกอบของอาหารบางประเภท เช่น โรคเบาหวานหลีกเลี่ยงน้ำตาล โรคไต ความดันโลหิตสูงหลีกเลี่ยงโซเดียม และโรคหัวใจ และหลอดเลือดหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ เป็นต้น ดังนั้นการอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้ออาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำให้ติดเป็นนิสัย

 

ฉลากโภชนาการ มีข้อมูลอะไรบ้าง?

สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา หรือ อย. ระบุว่า การอ่านฉลากก่อนซื้อเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับอาหารสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูปตรงตามความต้องการเนื่องจากฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่จะบอกว่าอาหารนั้นผลิตที่ใด มีส่วนประกอบ วิธีการปรุง การเก็บรักษาอย่างไร  ผลิต และ/หรือหมดอายุเมื่อใด  รวมถึงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร  คำเตือนที่ควรระวัง  และที่สำคัญได้รับอนุญาตจาก อย.หรือไม่ โดยดูจากเลขสารบบอาหาร  xx-x-xxxxx-y-yyyy   ซึ่งจะมีตัวเลข 13 หลักอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย.  อีกส่วนที่ผู้บริโภคควรให้ความสนใจเนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม

 

วิธีอ่านฉลากโภชนาการ

  1. ถ้าบริโภคอาหารตามปริมาณที่ระบุใน “หนึ่งหน่วยบริโภค” ก็จะได้รับพลังงาน และสารอาหารต่าง ๆ ตามข้อมูลที่แสดงใน “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค”

  2. ถ้าภาชนะบรรจุขนาดใหญ่ ไม่ควรบริโภคหมดในวันเดียว ควรสังเกตจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ” ด้วย ซึ่งจะมีข้อแนะนำว่าควรแบ่งบริโภคกี่ครั้ง และบริโภคตามข้อแนะนำที่ระบุไว้

  3. ต้องการทราบว่าอาหารนั้นให้พลังงานเท่าไร และให้สารอาหารอะไรบ้าง อาทิ โปรตีน โซเดียม โคเลสเตอรอล ฯลฯ  ในปริมาณเท่าไร ให้ดูที่ “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค” โดยเมื่อบริโภคตามปริมาณที่ระบุไว้ในหนึ่งหน่วยบริโภคก็จะได้รับสารอาหารตามนั้น เช่น จากตัวอย่าง หนึ่งหน่วยบริโภค คือ 1/8 ซอง (25 กรัม) ถ้าบริโภคตามปริมาณดังกล่าวจะได้รับพลังงาน 210 กิโลแคลอรี

  4. ต้องการทราบว่าบริโภคอาหารนั้นแล้วจะได้รับสารอาหาร อาทิ ไขมัน แคลเซียม ฯลฯ คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณที่แนะนำให้คนไทยรับประทาน ให้ดูที่ “ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน”

 

สังเกต “หน่วยบริโภค” ให้ดีๆ

ทั้งนี้พบว่าผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือต้องการลดการบริโภคไขมัน โซเดียม โดยใช้ประโยชน์จากฉลากโภชนาการ มักเข้าใจผิดว่าเมื่อบริโภคอาหารนั้นหมดทั้งซอง หรือทั้งกล่อง จะได้รับพลังงานและสารอาหารเท่ากับจำนวนตัวเลขที่แสดงอยู่ใน “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค” ซึ่งไม่แน่เสมอไป  

โปรดสังเกต  ”จำนวนหน่วยบริโภคต่อซอง หรือ ต่อกล่อง” ด้วย หากระบุตัวเลขมากกว่า 1 เช่น จากตัวอย่างระบุว่า “จำนวนหน่วยบริโภคต่อซอง : 8” ถ้าบริโภคหมดซองในครั้งเดียว ก็จะได้รับพลังงานและสารอาหารต่าง ๆ ถึง 8 เท่าของตัวเลขที่แสดงใน “คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค“ โดยหากบริโภคขนมซองที่แสดงเป็นตัวอย่างหมดทั้งซองจะได้พลังงานจากขนมซองนั้นถึง 1,680 กิโลแคลอรี ซึ่งถ้าเพิ่มการบริโภคขนมซองนี้โดยบริโภคหมดทั้งซองติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน  ในขณะที่ยังคงบริโภคอาหารในปริมาณใกล้เคียงกับที่เคยบริโภค และมีกิจวัตรประจำวันเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.5 กิโลกรัม และหากบริโภคติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน น้ำหนักตัวจะขึ้นประมาณ 6 กิโลกรัม

ดังนั้นเมื่อมองเห็นอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดใหญ่แสดงตัวเลขพลังงาน ไขมัน โซเดียม ที่ดูน้อย อย่าเพิ่งตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคแบบเพลิดเพลินหมดทั้งซอง ควรต้องดูให้แน่ใจตามข้อมูลที่กล่าวไว้ข้างต้นด้วย  สิ่งเหล่านี้เป็นเคล็ดลับการเลือกซื้อดีๆ ที่ผู้รักสุขภาพควรบอกต่อกัน

 

>> 5 สารอันตราย ที่รู้ได้จากอ่านจาก "ฉลากอาหาร"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook