อันตรายจาก “น้ำปลาลดโซเดียม” ที่คุณอาจไม่เคยรู้
จริงๆ แล้วหลายคนที่อ่านหัวข้อบทความนี้คงนึกในใจว่า “น้ำปลาลดโซเดียม มันจะไม่ดีต่อร่างกายได้อย่างไร” จริงๆ แล้วเครื่องปรุงที่มีการลดปริมาณโซเดียมให้น้อยลง โดยเฉพาะน้ำปลาทีเมนูอาหารไทยหลายๆ อย่างขาดน้ำปลาไปไม่ได้ จะใส่เกลือแทนยังไม่อร่อยเท่า ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใครหลายๆ คนที่อยากจะลดโซเดียมในอาหารทุกจาน แต่ยังได้รับรสชาติเค็ม และหอมของน้ำปลาได้อยู่
มาถึงตรงนี้ อาจจะนึกถึงคนที่ต้องลดโซเดียมด่วนๆ อย่าง ผู้ป่วยโรคไต แต่ก่อนที่จะเดินไปหยิบน้ำปลาลดโซเดียมไปจ่ายเงิน อ่านบทความนี้ให้จบก่อน เพราะคุณจะต้องเปลี่ยนใจกะทันหันแน่นอน
น้ำปลาลดโซเดียม ทำไมไม่เหมาะกับทุกคน?
กระบวนการในการเติมรสเค็มลงไปแทนโซเดียมของน้ำปลาลดโซเดียม คือการใช้เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์มาให้รสเค็มแทนโซเดียม แต่ประเด็นคือ “โพแทสเซียม” เป็นสารอาหารต้องห้ามของคนที่เป็นโรคไต เพราะไม่ว่าจะเป็นโซเดียม หรือโพแทสเซียมก็ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อขับเอาของเสียส่วนเกินในร่างกายออกมาเหมือนกัน หากมีปริมาณโพแทสเซียมสะสมอยู่ในไตเป็นจำนวนมาก (จากการที่ผู้ป่วยโรคไต มีไตที่ทำงานผิดปกติ อาจไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกไปจากร่างกายได้ทัน) อาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตเกิดอาการแขนขาชา และหากมีอาการหนักมากๆ อาจถึงขั้นหัวใจเต้นได้เลยทีเดียว
แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตบางรายที่ทำการผลิตน้ำปลาโซเดียมต่ำ ด้วยการดึงเอาโซเดียมออกมาจากน้ำปลาโดยวิธีแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้า ไม่ได้มีการทดแทนความเค็มด้วยเกลือโพแทสเซียม ดังนั้นหากอยากลองน้ำปลาโซเดียมต่ำ อาจจะต้องสังเกตข้างขวดว่าผ่านกรรมวิธีลดโซเดียมอย่างไร หรือมีส่วนผสมของโพแทสเซียมสูงหรือไม่
น้ำปลาลดโซเดียม เหมาะกับใคร?
ใครก็ตามที่ต้องการลดโซเดียมในร่างกายเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไต (โดยที่ยังไม่ได้เริ่มเป็น) คนที่ต้องการเริ่มหัดทำอาหารคลีนทาน รวมไปถึงผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว เพราะโซเดียมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการความดันโลหิตสูงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นโรคความดันโลหิตสูงจากการทำงานผิดปกติของไต ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานน้ำปลาลดโซเดียมอยู่ดี