โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง มีอาการอย่างไร ติดต่อ แพร่เชื้อได้อย่างไร
ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่พบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก เป็นโรคติดต่อที่มีอาการไม่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่
ล่าสุด โรคฝีดาษลิง กลับมาระบาดอย่างรุนแรงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา ทำให้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ การระบาดครั้งนี้เกิดจากไวรัส Clade 1 ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% และพบการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ Clade 1b ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและอันตรายมากกว่าที่เคยพบมาก่อน
ฝีดาษลิง คืออะไร แตกต่างจากโรคฝีดาษปกติอย่างไร
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า โรคฝีดาษลิง คือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส orthopoxvirus เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่พบได้น้อย โรคนี้พบมากในแอฟริกากลาง และตะวันตก โดยเชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคน และฝีดาษวัว พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงก็อาจติดเชื้อได้ รวมทั้งคนก็สามารถติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง สามารถติดต่อได้อย่างไร
- สัตว์สู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ การถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก
- คนสู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ตัวอย่างเช่น ไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนอง สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย ซึ่งมักมาจากการใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ฯลฯ ส่วนการกอด การจูบ มีโอกาสที่จะติดต่อโรคฝีดาษลิงได้เช่นกัน หากผู้กอดหรือจูบมีผื่น หรือมีสารคัดหลั่งจากตุ่มหนองของผู้ป่วยติดอยู่บนผิวหนังหรือเสื้อผ้า ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกอด การจูบ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
อาการของโรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง
อาการของโรคฝีดาษลิงจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
- ผื่นราบ
- ตุ่มแดงผสมตุ่มน้ำ
- ตุ่มหนอง
- ตุ่มหนองแตกออกเป็นแผล
- ตกสะเก็ด
วิธีรักษาโรคฝีดาษลิงในคน
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง แต่อาการส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ โดยการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาต้านไวรัส เป็นต้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพิ่มเติม
การป้องกันโรคฝีดาษลิงสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด และฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้