"หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันที่ขา" รักษาด้วยการขยายเส้นเลือดด้วย "บอลลูน"
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน หรือ Peripheral Artery Disease มักมีสาเหตุมาจากการมีไขมันหรือหินปูนไปเกาะที่ผนังเส้นเลือดแดง จนเกิดการอักเสบและเกิดพังผืดเกาะสะสมบริเวณดังกล่าว จนทำให้รูของผนังเส้นเลือดแคบและตีบลง โดยกระบวนการเหล่านี้เรียกว่า Atherosclerosis เมื่อเกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดง จะทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง และทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายของเส้นเลือดไม่เพียงพอ
โรคนี้มักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุและมีปัจจัยเสี่ยงในผู้ที่สูบบุหรี่, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ทั้งนี้จะมีอาการ ปวดน่องและขาเวลาเดิน (Claudication), ปวดขาในระยะพัก (Rest Pain) ซึ่งบ่งบอกว่ามีอาการรุนแรง และเกิดแผลหรือเนื้อตาย (Ulceration / Gangrene) ในที่สุด
โดยแนวทางการรักษา สามารถทำได้โดย การทำ Angioplasty ซึ่งได้แก่ การรักษาการตีบของเส้นเลือดโดยใช้บอลลูนเข้าไปถ่างขยายเส้นเลือด โดยในปัจจุบันการทำ Angioplasty เป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Arterial Disease, PAD) เพราะใช้เวลาในการพักรักษาที่โรงพยาบาลน้อย
อย่างไรก็ตาม ก่อนการรักษาแพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อประเมินการรักษา โดยจะใช้เครื่องมือ ได้แก่
- Duplex ultrasound ซึ่งเป็นการใช้คลื่นเสียง Ultrasound (B – Mode) เพื่อแสดงตำแหน่งของการอุดตัน และใช้ Doppler Scan Mode เพื่อดูลักษณะของ Wave และ Flow ที่ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งช่วยบอกความรุนแรงของการตีบตันได้
- Magnetic resonance angiography (MRA) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- Computed tomography angiography (CTA) เป็นการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ร่วมกับการฉีด สารทึบรังสี แล้วนำข้อมูลที่ได้มาสร้างภาพสามมิติ ( 3D Reconstruction )
อย่างไรก็ตาม เมื่อคนไข้มีอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเนื้อตายเน่าของขาหรือเท้า ซึ่งอาจนำไปสู่การรักษาที่ต้องการต้องตัดทิ้งได้