เตือนผู้สูงอายุเสี่ยง "กระดูกพรุน" ไม่รักษาอาจอันตรายถึงชีวิต
ในปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรเด็ก คือ มีผู้สูงวัย 18% เด็ก 15.9% และในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรสูงวัย มากกว่า 20% และในปี 2574 จะมีอัตราส่วนของผู้สูงวัย 28 % จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ผู้สูงวัย เสี่ยงโรคกระดูกพรุน
ศ.นพ.อารี ตนาวลี ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสนใจเรื่องกระดูกหักในผู้สูงวัยจากโรคกระดูกพรุนค่อนข้างมากจากสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทย หลายหน่วยงานจึงร่วมกันรณรงค์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาในแนวทางที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเสียชีวิต ประมาณ 20-25 % ในปีแรก และคนไข้บางรายไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ ซึ่งทางราชวิทยาลัยฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอันตรายจากภาวะดังกล่าว แพทย์ออร์โธปิดิกส์จึงได้ร่วมมือกันในการให้ความสำคัญ ดูแลผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำของกระดูก
ทั้งนี้ กระดูกหักในผู้ป่วยที่มีกระดูกพรุน พบได้บ่อยกว่าที่คิด ทุกๆ 3 วินาทีจะมีกระดูกหักใหม่เกิดขึ้น ประชากรทั่วโลกมีสตรีที่เป็นโรคกระดูกพรุนประมาณ 200 ล้านคน ข้อมูลในประเทศไทย 1 ใน 5 ของผู้หญิงอายุ 40-80 ปี เป็นโรคกระดูกพรุน ตำแหน่งที่พบบ่อยจากการหกล้ม คือกระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ ส่วนกระดูกสันหลังหักอาจพบโดยเกิดกระดูกยุบตัว จากอุบัติเหตุหรือเกิดขึ้นเอง และหากภาวะกระดูกพรุนไม่ถูกควบคุมดีพอก็อาจเกิดการหักซ้ำได้ในส่วนอื่นๆ โดยราชวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงภาวะกระดูกพรุนและจะนำเดินต่อไปให้เป็นวงกว้างมากขึ้น
โรคกระดูกพรุน คืออะไร?
รศ.นพ.สัตยา โรจนเสถียร ว่าที่ประธานอนุสาขาเมตาบอลิกและผู้สูงอายุ กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนคือโรคที่คนไข้มีมวลกระดูกต่ำ โครงสร้างกระดูกเสื่อมโทรมและกระดูกหักง่ายแม้เพียงการล้มเบาเบา ผลกระทบสำคัญของโรคกระดูกพรุนคือกระดูกหักในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกข้อมือหัก กระดูกสันหลังหัก กระดูกสะโพกหัก กระดูกต้นแขนหัก กระดูกเชิงกรานหัก
อันตรายจากโรคกระดูกพรุน
การมีกระดูกหักในตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตลดลง คนไข้มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันด้อยลง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าเวลาอันสมควร คนไข้ที่เคยมีกระดูกหักจากภยันตรายที่ไม่ร้ายแรงเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณภาพกระดูกไม่ดี และเป็นโรคกระดูกพรุน คนไข้เหล่านี้มีโอกาสเกิดกระดูกหักซ้ำได้มากกว่าประชากรทั่วไปหลายเท่า การป้องกันก่อนกระดูกหักจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันการป้องกันมีให้กระดูกหักซ้ำในผู้ป่วยซึ่งเคยมีกระดูกหักมาแล้วยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก มีข้อมูลแสดงว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ไม่ได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุน มีอัตราตายมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาถึงสองเท่า
การรักษาโรคกระดูกพรุน
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ประธานอนุสาขาเมตาบอลิกและผู้สูงอายุ กล่าวว่า การรักษาโรคกระดูกพรุนไม่ยาก เริ่มต้นจากการวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติกระดูกหัก หรือ กระดูกสันหลังยุบ, คนไข้ที่หมดประจำเดือนเร็ว, ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและน้ำหนักน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ส่งตรวจค่ามวลกระดูก และตรวจเลือดเพิ่มเติม เมื่อวินิจฉัยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว จึงเลือกใช้ยาตามข้อบ่งชี้ ยามี 2 กลุ่มหลักๆ คือ ยาต้านการสลายกระดูก และยากระตุ้นการสร้างกระดูก ซึ่งควรพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายในระยะเวลาที่เหมาะสม สุดท้ายคือ ติดตามผล โดยตรวจวัดมวลกระดูก ทุก 1-2 ปี