สัญญาณอันตรายในผู้หญิง ประจำเดือนมากผิดปกติ เสี่ยง "มดลูกโต"

สัญญาณอันตรายในผู้หญิง ประจำเดือนมากผิดปกติ เสี่ยง "มดลูกโต"

สัญญาณอันตรายในผู้หญิง ประจำเดือนมากผิดปกติ เสี่ยง "มดลูกโต"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มดลูกโต โรคที่ผู้หญิงหลายคนอาจไม่เคยรู้จัก หลายคนอาจเกิดความสับสนว่าเนื้องอกมดลูกกับมดลูกโตใช่โรคเดียวกันหรือไม่ ความจริงแล้วโรคมดลูกโตกับเนื้องอกมดลูกนั้นเป็นคนละโรคกัน แต่หากประจำเดือนมากผิดปกติและมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ อาจเป็นสัญญาณของโรคมดลูกโตได้ ที่น่ากังวลใจยิ่งกว่าคือ แม้ตัวโรคไม่มีอาการแสดง แต่ก็มีโอกาสเป็นมดลูกโตได้เช่นกัน

 

มดลูกโต คืออะไร?

ปัจจุบันผู้หญิงป่วยด้วยโรคมดลูกโตกันค่อนข้างมาก มักพบในผู้หญิงที่อายุระหว่าง 30-45 ปี โรคมดลูกโตพบได้หลายสาเหตุ ได้แก่ เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แต่สาเหตุหลักๆ ที่พบคือ โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis) คือ การที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญหรือแทรกซึมเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดภาวะอักเสบเรื้อรังจนเกิดพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก สุดท้ายมดลูกเกิดการขยายตัวและหนาขึ้น เกิดภาวะมดลูกโต ทำให้เกิดอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ และอาการต่างๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ที่สำคัญคือโรคมดลูกโตนั้นไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หากผู้ป่วยมีกรรมพันธุ์หรือเคยทำการผ่าตัดเกี่ยวกับมดลูกอาจทำให้เป็นโรคมดลูกโตได้ นอกจากนี้การหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นผู้หญิงที่หมดประจำเดือนหรือผู้หญิงที่ตัดมดลูกทิ้งจึงหมดโอกาสเป็นโรคมดลูกโต

 

อาการของมดลูกโต 

อาการมดลูกโตที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ

  1. คลำเจอก้อนที่บริเวณท้องน้อย โดยมากหากคลำเจอนั่นหมายถึงก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ประมาณคนท้องได้ 3 เดือน ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น แต่ถึงแม้ว่าจะคลำไม่เจอ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้เป็นโรคมดลูกโตด้วยอีกเช่นกัน

  2. ปัสสาวะถี่ (ถ้าตำแหน่งของมดลูกโตอยู่บริเวณด้านหน้า ก็จะไปกดกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดอาการปัสสาวะถี่)

  3. ปวดหลัง (ถ้ามดลูกโตไปทางด้านหลังก็จะไปกดตำแหน่งที่ทำให้ปวดหลัง)

  4. ปวดท้องน้อย

  5. ประจำเดือนมามากกว่าปกติ (ต้องมีการเปลี่ยนผ้าอนามัยมากกว่า 2-3 แผ่นต่อวัน)

  6. มีอาการปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ

  7. มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ออกมาขณะมีประจำเดือน

  8. มีอาการคล้ายๆ ตกเลือดขณะมีประจำเดือน

  9. ปวดเชิงกรานและช่องท้อง

  10. ปวดหน่วงช่องท้อง

 

วิธีตรวจหามดลูกโต

การตรวจวินิจฉัยมดลูกโตทำได้โดย สูติ-นรีแพทย์จะทำการซักประวัติโดยละเอียด แพทย์ตรวจภายใน อัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ตรวจ MRI ช่องท้องส่วนล่าง (MRI Lower Abdomen) ในกรณีที่ต้องการยืนยันและหรือประเมินความรุนแรงของโรคว่าเกิดพังผืดต่ออวัยวะข้างเคียงหรือไม่

 

การดูแลรักษามดลูกโต

สูติ-นรีแพทย์จะทำการรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ ได้แก่ รับประทานยาพอนสแตน (Ponstan) และหรือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยให้อาการปวดและการอักเสบดีขึ้น ใช้ Progestin Only Hormone และหรือยาคุมกำเนิดเพื่อลดอาการปวด และช่วยให้ปริมาณรอบเดือนมาน้อยลง ชะลอการเติบโตของพังผืดในกล้ามเนื้อมดลูก หากมีอาการรุนแรงสูติ-นรีแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก (MIS -  Advanced Minimal Invasive Surgery) ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แผลมีขนาดเล็ก 5 - 10 มม. เสียเลือดน้อย ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหรือติดเชื้อ ฟื้นตัวเร็วใน 1 - 2 วัน และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์ ลดความกังวลและเพิ่มความมั่นใจในการเข้ารับการรักษาได้เป็นอย่างดี

 

วิธีป้องกันมดลูกโต

  1. ดูแล และควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินเกณฑ์

  2. ใส่ใจตรวจร่างกายและตรวจภายในกับสูติ-นรีแพทย์เป็นประจำทุกปี

  3. เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกตามวัยที่เหมาะสม และตามคำแนะนำของสูติ-นรีแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติและรับมือได้ทันท่วงที

  4. หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองอยู่เสมอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook