6 ภาวะแทรกซ้อนอันตรายจาก “ความดันโลหิตสูง”
ผู้สูงอายุ และวัยทำงานหลายคน มีความเสี่ยงภาวะ “ความดันโลหิตสูง” และพบได้เป็นจำนวนมาก เพราะความดันโลหิตสูงมีสาเหตุมาจากอาหารการกินที่อาจไม่ถูกสัดส่วน หนักของมันของทอดของเค็ม รวมถึงภาวะอ้วน น้ำหนักเกินมาตรฐานเป็นเวลานาน รวมไปถึงความเครียดสะสมจากการทำงาน และการขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นกว่าคนธรรมดาทั่วไป
>> "ความดันโลหิตสูง" ฆาตรกรเงียบ อันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของอาการความดันโลหิตสูง เพราะอาจจะยังไม่ออกอาการเจ็บป่วยอะไรชัดเจนมากนัก แต่อันที่จริงแล้วความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายโรค และยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย
ภาวะแทรกซ้อนอันตรายจาก “ความดันโลหิตสูง”
- ภาวะสมองขาดเลือด
เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นจนหลอดเลือดแดงในสมองเกิดอาการอุดตัน จนทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงสมองผ่านหลอดเลือดสมองได้ จึงทำให้สมองขาดเลือด และทำงานได้ไม่ปกติ หากความดันในหลอดเลือดมากขึ้น อาจเสี่ยงหลอดเลือดสมองแตกจนเสียชีวิตได้อีกด้วย
- หัวใจล้มเหลว
หากหัวใจต้องทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายมากขึ้น เพราะต้องสู้กับแรงดันในหลอดเลือด หัวใจอาจทำงานหนักจนกล้ามเนื้อหัวใจหนา และหัวใจโตขึ้น หัวใจสูบฉีดเลือดได้ยากขึ้น จนสุดท้ายหัวใจอาจไม่สามารถทำหน้าที่สูบฉีดเลือดได้ดีมากพอ จนระบบการทำงานล้มเหลวในที่สุด
- จอตาแตก
ความดันของหลอดเลือดในดวงตา อาจทำให้จอตาแตก หรือมีเลือดออกได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสายตาของผู้ป่วยที่อาจผิดปกติ หรืออาจถึงขั้นตาบอดได้
- สมองโป่งพอง
ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุของหลอดเลือดในสมองถูกดันจนโป่ง พอง นูน มีเลือดออก จนกระทั่งฉีกขาดจนทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้
- ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม
เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้ร่างกายมีระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายผิดปกติ ไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง รอบเอวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ไขมันดีต่ำ ระดับอินซูลินสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้
- ความจำเสื่อม
นอกจากเรื่องของการทำงานของหลอดเลือดต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การทำงานของสมองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ความสามารถในการจำ คิด และวิเคราะห์ลดน้อยลง รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน
เคล็ดลับการลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง
- วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติเรื่อยๆ
>> วิธี "วัดความดันโลหิต" ด้วยตัวเอง ทำอย่างไรให้ถูกต้อง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยลดความดันโลหิตได้ สามารถทำได้ทั้งคาร์ดิโอ และเวทเทรนนิ่ง
- งดการสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ
- ทานยาตามแพทย์สั่ง หากกำลังอยู่ในระหว่างการรักษาจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันจากสัตว์สูง รวมถึงอาหารที่ปรุงรสจัด และรสเค็มมากเกินไป
- พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ นอนราวๆ 6-8 ชั่วโมงต่อวันทุกครั้ง