3 เคล็ดลับง่ายๆ ห่างไกล “กระดูกพรุน”
วัยรุ่น วัยทำงานอาจจะยังไม่เห็นถึงความสำคัญของกระดูกของเรามากนัก เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะรู้สึกเจ็บปวด หรือมีอาการผิดปกติจากกระดูกที่เสื่อมสภาพลงแต่อย่างใด แต่หากเข้าสู่วัยกลางคนเมื่อไร เราอาจจะมานั่งเสียใจทีหลังว่า “รู้งี้ดูแลกระดูกให้ดีตั้งแต่แรกก็คงดี” เพราะหากเป็นโรค “กระดูกพรุน” ขึ้นมา คุณภาพชีวิตจะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิง และ 1 ใน 5 ของผู้ชาย ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี การเรียนรู้ป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้ สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีปัจจัยโอกาสเสี่ยงสูง
โรคกระดูกพรุน คืออะไร?
โรคกระดูกพรุน คือโรคที่เกิดจากภาวะที่เนื้อกระดูกบางจากการสูญเสียแคลเซียม ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง ผุกร่อน รับน้ำหนักได้ไม่ดี หากเกิดการบาดเจ็บ กระทบกระแทก หรือแค่ยกของหนักเพียงเล็กน้อยอาจทำให้กระดูกหักได้ง่าย
อาการของโรคกระดูกพรุน
อาการสำคัญของโรคกระดูกพรุน คือ ปวดตามกระดูก โดยเฉพาะกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก เช่น กระดูกสันหลัง สะโพก รวมถึงข้อต่างๆ ต่อมาหลังจะโก่งค่อม ตัวเตี้ยลงเนื่องจากกระดูกสันหลังยุบตัวลง ทำให้ปวดหลังมาก เคลื่อนไหวตัวลำบาก
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น อาจมีความเสี่ยงมากข้นในราวๆ อายุ 45-60 ปี
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติในการเป็นโรคกระดูกพรุน
- มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ
- นั่งทำงานเป็นเวลานาน ไม่ค่อยขยับร่างกาย
- ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ
- เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไทรอยด์ มะเร็ง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไต และโรคเลือด
- เป็นผู้ที่ทานยากันชัก ยารักษาโรครูมาตอยด์ ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์
เป็นต้น
อันตรายของโรคกระดูกพรุน
ร้อยละ 50 ของผู้ที่มีกระดูกหักหนึ่งจุดเนื่องจากภาวะกระดูกพรุน จะมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำเพิ่มได้อีกในบริเวณอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะโพก กระดูกหลัง กระดูกข้อมือ ดังนั้นนอกจากเป็นอาการเจ็บตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาบ่อยๆ แล้ว หากกระดูกหักในจังหวะที่ล้ม อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงมากกว่าแค่เจ็บตัวได้
3 เคล็ดลับง่ายๆ ห่างไกลโรคกระดูกพรุน
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม และงดการสูบบุหรี่ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ คาเฟอีน กรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลม และผลข้างเคียงจากการสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงในการที่ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงน้อยลง
- ลดการทานอาหารรสเค็ม เพราะอาหารเค็มมีผลทำให้มวลของกระดูกลดต่ำลงได้เช่นกัน
- เพิ่มการทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์นม ปลาตัวเล็กที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก เนยแข็ง ผักใบเขียว
ข้อมูลเพิ่มเติม : การทานแคลเซียมให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือไม่ควรทานอาหารที่มีแคลเซียมหลังมื้ออาหารที่มีผักมากๆ เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และอาจจับกับผักทำให้อืดแน่นท้อง เมื่อทานแคลเซียมควรรับประทานอาหารที่มีความสมดุลของโปรตีนเพื่อลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และต้องแน่ใจว่าในร่างกายมีวิตามินดีมากพอที่จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้อย่างเป็นปกติด้วย ดังนั้นแม้ว่าบ้านเราจะมีแดดออกตลอดปี แต่พบว่าคนไทยหลายคนอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงขาดวิตามินดี เพราะมัวแต่หลบแดด อย่าลืมเพิ่มวิตามินดีง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายกลางแจ้งในตอนเช้าอย่างน้อย 20-30 นาทีด้วย