ผลข้างเคียงจากอาหารเสริม "เมลาโทนิน"

ผลข้างเคียงจากอาหารเสริม "เมลาโทนิน"

ผลข้างเคียงจากอาหารเสริม "เมลาโทนิน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาหารเสริมเมลาโทนินมีส่วนช่วยในการนอนหลับ หากคุณนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนหลับไม่มีคุณภาพ อาหารเสริมเมลาโทนินอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามการกินอาหารเสริม เมลาโทนิน อาจมีความเสี่ยงและผลข้างเคียงบางอย่างเช่นกัน

 

เมลาโทนินคืออะไร

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมรอบการนอนหลับ (Cycles of sleep) โดยความมืดจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นสัญญาณให้ร่างกายเตรียมตัวนอนหลับ ส่วนแสงสว่างจะลดการผลิตเมลาโทนิน และเป็นสัญญาณให้ร่างกายเตรียมตัวตื่นนอน สำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ อาจมีระดับเมลาโทนินในร่างกายน้อย การเพิ่มปริมาณเมลาโทนินด้วยการกินอาหารเสริม จึงอาจช่วยการนอนหลับได้ นอกจากการนอนหลับแล้ว เมลาโทนินยังมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายดังต่อไปนี้

  • ป้องกันสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย

  • ช่วยควบคุมความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย และระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล

  • มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

สำหรับอาหารเสริมเมลาโทนิน มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับฮอร์โมนเมลาโทนินในร่างกาย นั่นคือมีส่วนช่วยในการนอนหลับ ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ และเพิ่มช่วงเวลาในการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมเมลาโทนินไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยานอนหลับ นอกจากนี้มีงานวิจัยที่แนะนำว่าอาหารเสริมเมลาโทนินอาจช่วยในการรักษาอาการนอนหลับผิดปกติ เช่น ชะลอช่วงการนอนหลับ (Sleep phase) บรรเทาอาการของโรคนอนไม่หลับและอาการเจ็ตแล็คได้ ซึ่งเมลาโทนินโดยปกติไม่เป็นอันตราย หากใช้ในเวลาสั้นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีผลข้างเคียงบางประการจากการกินอาหารเสริมเมลาโทนิน

 

ผลข้างเคียงของอาหารเสริมเมลาโทนิน

1. อาจส่งผลต่อฮอร์โมนเมลาโทนินในร่างกาย

แพทย์บางคนกังวลว่า การกินอาหารเสริมเมลาโทนินอาจลดการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินตามธรรมชาติ แต่การศึกษาในระยะสั้นยังไม่พบผลกระทบของการกินอาหารเสริมเมลาโทนิน กับการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินตามธรรมชาติในร่างกาย

 

2. ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการกินอาหารเสริมเมลาโทนิน

หลายงานวิจัยรายงานว่า อาการที่เป็นผลข้างเคียงหลังจากการกินอาหารเสริมเมลาโทนิน ได้แก่

  • ปวดหัว
  • วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • ง่วงนอน

นอกจากนี้ยังมีอาการที่ไม่ได้พบบ่อย แต่อาจเป็นหนึ่งในผลข้างเคียงจากการกินอาหารเสริมเมลาโทนิน ได้แก่ รู้สึกซึมเศร้าในช่วงเวลาสั้นๆ รู้สึกกังวล ปวดท้อง รู้สึกหงุดหงิด ไม่ตื่นตัว สับสนหรือเวียนศีรษะ และความดันโลหิตต่ำผิดปกติ

 

3. อาจทำให้มีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน

อาหารเสริมเมลาโทนินมีส่วนช่วยในการนอนหลับ จึงควรกินก่อนเวลาเข้านอน เนื่องจากการกินอาหารเสริมเมลาโทนินในตอนกลางวัน อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ ดังนั้น คุณจึงไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักร ภายในเวลา 5 ชั่วโมงหลังจากกินอาหารเสริมเมลาโทนิน แต่อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่พบว่า การกินอาหารเสริมเมลาโทนิน หรือการฉีดเมลาโทนินเข้าสู่ร่างกายในช่วงเวลาระหว่างวัน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรักษาสมาธิ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่มีกลุ่มตัวอย่างคือผู้ที่มีสุขภาพดี ที่ได้รับการฉีดเมลาโทนินเข้าสู่ร่างกาย 10 หรือ 100 มิลลิกรัม หรือการกินอาหารเสริมเมลาโทนิน 5 มิลลิกรัม ผลการวิจัยพบว่าไม่มีผลกระทบต่อเวลาในการเกิดปฏิกิริยา ความสนใจ ความเข้มข้น หรือประสิทธิภาพในการขับขี่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

 

4. การลดอุณหภูมิร่างกาย

เมลาโทนินอาจทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิลดลง ซึ่งอาจเป็นปัญหาในผู้ที่ร่างกายมีปัญหาในการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย

 

5. อาหารเสริมเมลาโทนินอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด

อาหารเสริมเมลาโทนินอาจเกิดปฏิกิริยากับยาบางชนิด ได้แก่

  • ยานอนหลับ มีงานวิจัยที่พบว่าการกินยานอนหลับโซลพิเดม (Zolpidem) กับเมลาโทนิน ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาโซลพิเดมต่อความทรงจำและการทำงานของกล้ามเนื้อ
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) และยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet drugs)
  • ยากันชัก (Anticonvulsants)
  • ยาคุมกำเนิด
  • ยารักษาโรคเบาหวาน
  • ยาลดภูมิคุ้มกัน  (immunosuppressants)
  • ยาวาฟาริน (Warfarin) เมลาโทนินอาจลดการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น ในกรณีที่คุณกินยาวาฟาริน (Warfarin) หรือยาเจือจางเลือด (Blood thinner) คุณควรปรึกษาคุณหมอก่อนกินอาหารเสริมเมลาโทนิน

6. ผู้ที่ไม่ควรกินอาหารเสริมเมลาโทนิน

  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร การกินอาหารเสริมเมลาโทนินมีแนวโน้มว่าไม่ปลอดภัย ทั้งการกินเมลาโทนินและการฉีดเมลาโทนินเข้าสู่ร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ ส่วนผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะยืนยันความปลอดภัยในการใช้เมลาโทนินขณะให้นมบุตร
  • การใช้เมลาโทนินในเด็ก เมลาโทนินมีแนวโน้มว่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก หากกินหลายครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากอาจกระทบกับฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกาย และอาจรบกวนพัฒนาการของร่างกายในช่วงที่เป็นวัยรุ่น

 

7. อาหารเสริมเมลาโทนินกับอาการโรค

  • โรคซึมเศร้า เมลาโทนินสามารถทำให้อาการของโรคซึมเศร้าแย่ลง
  • โรคเบาหวาน เมลาโทนินอาจเพิ่มน้ำตาลในเลือดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ดังนั้น จึงควรระวังระดับน้ำตาลในเลือดหากคุณเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและกินอาหารเสริมเมลาโทนิน
  • โรคความดันโลหิตสูง เมลาโทนินสามารถเพิ่มความดันโลหิตในผู้ที่กินยาที่ควบคุมความดันโลหิตได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกินเมลาโทนินหากคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • การปลูกถ่ายอวัยวะ เมลาโทนินสามารถเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจรบกวนการการรักษากดภูมิคุ้มกันของผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ เมลาโทนินอาจทำให้อาการเลือดออกแย่ลงในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ

 

วิธีกินอาหารเสริมเมลาโทนิน

อาหารเสริมเมลาโทนินควรกินในประมาณ 1-10 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมเมลาโทนินแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงควรอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนกิน นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้เด็กและวัยรุ่นกินอาหารเสริมเมลาโทนิน จนกว่าจะมีหลักฐานเพิ่มเติมที่ยืนยันว่า อาหารเสริมเมลาโทนินปลอดภัยสำหรับเด็กและวัยรุ่น

 

เพิ่มเมลาโทนินด้วยวิธีธรรมชาติ

คุณสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเมลาโทนินโดยไม่ต้องกินอาหารเสริมเมลาโทนินด้วยวิธีดังนี้

  • ก่อนเข้านอนควรหลีกเลี่ยงการดูทีวี การใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์
  • ปิดไฟในเวลานอน เนื่องจากการมีแสงไฟมากเกินไปสามารถลดการทำงานของสารเมลาโทนินในสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อการนอนหลับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook