"วีเนียร์” ฟันขาวเรียงขนาดสวยราวกับดารา กับ 10 ข้อเสียที่ควรทราบก่อนทำ
เคยสงสัยไหมว่าดาราชื่อดังทั้งไทย และต่างประเทศหลายคนทำไมถึงยิ้มเห็นฟันขาวเรียงตัวสวยเป๊ะแบบที่ฟันทุกซี่ขนาดเท่ากันเหมือนฟันปลอม จะบอกว่าก็ปลอมจริงๆ แหละ แต่ไม่ได้เป็นฟันปลอมแบบที่คนชราใส่กันธรรมดาๆ เป็นการจัดตกแต่งฟันด้วยเซรามิกที่เรียกว่า “วีเนียร์” ต่างหาก
วีเนียร์ คืออะไร?
วีเนียร์ (veneer) คือการตกแต่งฟันด้วยการกรอเอาผิวฟันออกเล็กน้อย และปิดทับด้วยวัสดุเซรามิก ตกแต่งใฟ้ฟันแข็งแรง ได้รูปสวยอย่างที่ต้องการ
วีเนียร์ มีกี่ประเภท?
โดยทั่วไปแล้ว การทำวีเนียร์สามารถแบ่งออกได้กว้างๆ 2 ประเภท
- การเคลือบฟันเทียมที่ทำโดยตรงในช่องปาก
เป็นการใช้วัสดุอุดฟัน เช่น คอมโพสิตเรซิน (Composite Resin) ที่สีใกล้เคียงกับฟันจริงด้วยสารยึดติดลงไปตรงๆ กับฟันจริง เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะของฟันจริง ไม่จำเป็นต้องกรอฟันมากนัก แต่ใช้เวลาทำนาน ต้องอาศัยความชำนาญจากทันตแพทย์มาก
- การเคลือบฟันเทียมที่ทำนอกช่องปาก
ทันตแพทย์จะกรอผิวฟันเดิมออก พิมพ์ปาก เลือกสีฟันที่ต้องการ แล้วนำไปผ่านกระบวนการในห้องแล็ปด้วยวัสดุประเภทพอร์ซเลน ระหว่างพิมพ์ฟันในห้องแล็ปแพทย์จะใส่ผิวฟันชั่วคราวให้ก่อน เมื่อฟันที่พิมพ์ในห้องแล็ปเสร็จเรียบร้อยจึงนำผิวฟันชั่วคราวออก แล้วใส่ผิวฟันจากพอร์ซเลนให้ สีฟันที่ได้จะมีความเป็นธรรมชาติ และฟันจะมีความคงทนของสีมากกว่า
ข้อดีของวีเนียร์
- ได้รูปฟันที่ขาวสะอาด เรียงตัวสวยอย่างที่ใจต้องการ เลือกรูปแบบของฟันได้ดั่งใจ เพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิต และการทำงานได้
- ช่วยป้องกันปัญหาผิวฟันถูกทำร้าย เช่น เคลือบฟันตามธรรมชาติหลุดจนมีความเสี่ยงต่อฟันผุมากขึ้น หรือเป็นคราบจากการดื่มชา กาแฟ เป็นต้น
- ช่วยลดความเสียหายต่อฟันที่อาจขึ้นได้ในอนาคต
- ปิดช่องว่างในกรณีที่มีฟันห่าง
- ปกปิดสีฟันที่มีความปกติ
- วีเนียร์มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10-15 ปี ดังนั้นหากมีกำลังทรัพย์ที่พอจะทำได้ ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวีเนียร์จะมีประโยชน์ทั้งในแง่ของความสวยงาม และปกป้องสุขภาพของฟันให้ดีขึ้นได้ในระยะยา แต่ก็มีเรื่องที่จะต้องตระหนักถึงก่อนทำมากมายหลายข้อด้วยกัน
ข้อเสียของวีเนียร์
- ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แบบใช้คอมโพสิตเรซินเริ่มต้นที่ 2,000 บาทต่อซี่ ส่วนวีเนียร์แบบพอร์ซเลนเริ่มต้นที่ซี่ละ 9,000 บาทต่อซี่ (ราคามีความหลากหลาย อาจถูกหรือแพงกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล หรือคลินิกทันตกรรมที่ทำ)
- ก่อนทำวีเนียร์ต้องรักษาโรคต่างๆ ในช่องปากให้หายเป็นปกติดีเสียก่อน เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ เป็นต้น
- หากเลือกทำวีเนียร์ด้วยวิธีการใช้คอมโพสิตเรซินอุดฟัน ความคงทนของสี และความเรียบเงาจะน้อยกว่าวัสดุประเภทพอร์ซเลน
- หากเลือกทำวีเนียร์ด้วยวิธีการใช้คอมโพสิตเรซิน และดูแลขอบวัสดุที่อุดฟันได้ไม่ดีพอ อาจมีเศษอาหารเข้าไปติดค้างจนเกิดกลิ่นปาก หรือเหงือกอักเสบได้
- แม้ว่าสุขภาพฟันหลังทำวีเนียร์จะดีขึ้น และมีความคงทนแข็งแรงใกล้เคียงกับฟันจริง แต่ก็อาจเปราะแตกเสียหายได้ หากใช้ฟันไม่ถูกวิธี เช่น กัด หรืองัดของแข็ง ใช้ฟันหน้าแทะของแข็ง หรือหากเป็นคนนอนกัดฟัน ต้องใส่เฝือกสบฟันเพื่อป้องกันวีเนียร์เสียหาย
- หากเลือกทำวีเนียร์ด้วยการเคลือบฟันเทียมนอกช่องปาก จะต้องกรอเอาผิวฟันออก ทำให้สูญเสียเคลือบฟันอย่างถาวร หากต้องมีการรื้อวีเนียร์ออกมาทำใหม่ ผิวฟันก็ต้องถูกกรอออกไปอีก เราก็จะเสียเคลือบฟันออกไปโดยไม่จำเป็น
- การทำวีเนียร์อาศัยความรู้ ความชำนาญของทันตแพทย์มาก หากเลือกทำกับแพทย์ที่ไม่ได้ร่ำเรียนด้านนี้โดยตรง หรือไม่ใช่ทันตแพทย์ที่ใบรับรองจริงๆ นอกจากจะไม่สวยงาม ไม่คงทน วีเนียร์แตกหักบ่อยๆ แล้ว อาจเกิดความเสียหายกับฟันแท้อย่างถาวรได้
- ในการทำวีเนียร์ ต้องมีเวลาพบทันตแพทย์อย่างน้อยๆ 3 ครั้ง
- หากวีเนียร์ที่ทำเกิดความเสียหาย จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลซ่อมแซม และใช้เวลานาน
- นอกจากวีเนียร์มีโอกาสแตกหัก หรือหลุดจากการดูแลไม่ดี หรือกัดของแข็ง ของเหนียวแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ฟันคู่จะสบสึกได้ (ฟันหน้าล่างสบกับโคนฟันหน้าบน หรือสบโดนโคนเหงือกด้านหน้าบน จนมีอาการเจ็บจากการกระแทก)
ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำวีเนียร์ ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการศึกษาวิธีดูแลฟันหลังทำวีเนียร์เป็นอย่างดี แล้วอย่าลืมกลับไปให้ทันตแพทย์เช็กสุขภาพฟัน และความเรียบร้อยของวีเนียร์ทุกๆ 6 เดือนด้วย