แน่นหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น สัญญาณอันตราย "กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน"
โรคที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ไม่ว่าโรคไหนก็น่ากลัวทั้งนั้น เพราะหากหัวใจทำงานไม่ปกติ เต้นผิดจังหวะ สูบฉีดเลือดได้ไม่มากพอ หรือแม้กระทั่งหยุดเต้น ระบบการทำงานของร่างกายก็จะหยุดลงตามไปด้วยภายในระยะเวลาไม่กี่นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันอย่าง "กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน" ที่คร่าชีวิตคนไทยไปจำนวนไม่น้อย
กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน คืออะไร?
กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นความผิดปกติที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายจากการที่ขาดเลือด และออกซิเจน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตันกะทันหันจากคราบไขมันและก้อนลิ่มเลือด หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ประกอบด้วยหลอดเลือดแดงหลัก 2 เส้น เรียกว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ ด้านขวา 1 เส้น และด้านซ้าย 1 เส้น ซึ่งด้านซ้ายจะแตกแขนงออกเป็น 2 เส้นใหญ่ อาการส่วนใหญ่ จะเจ็บหน้าอกเป็นหลัก ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว และรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุดจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก
อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
สำหรับอาการของผู้ป่วยส่วนมาก จะมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรงตรงกลางหน้าอก เหมือนถูกกดหรือถูกบีบ มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปถึงกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางคนอาจมีความรู้สึกเหมือนถูกเชือดรัด หรือมัดรอบหน้าอก จุกใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน นอกจากนี้อาจมีอาการตัวเย็น วิงเวียน คลื่นไส้ ใจสั่น หายใจผิดปกติ และอ่อนแรง ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามหากคนไข้มีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบไปพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด
กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดรุนแรงแค่ไหนขึ้นกับอะไรบ้าง?
- ระยะเวลาที่ขาดเลือดจนกระทั่งลิ่มเลือดละลาย (ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนได้รับการรักษา)
- หลอดเลือดตีบมากหรือน้อย
- มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ไปยังบริเวณที่ขาดเลือดหรือไม่
- ขนาดของหลอดเลือดที่ตีบ
- จำนวนเส้นที่หลอดเลือดตีบ
- มีโรคประจำตัวหรือไม่ เช่นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากการตีบหรืออุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือดแดงหัวใจหลักการรักษาที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วอย่างทันท่วงที ก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะตายลงในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและถูกต้อง มีการจำแนกเป็น 2 ประเภท โดยดูจากผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ( Electrocardiography , ECG ) ได้แก่ แบบ ST elevation MI ( STEMI ) ซึ่งหลอดเลือดมีการอุดตัน 100% และแบบ Non-ST elevation acute coronary syndrome ( NSTE-ACS ) ซึ่งหลอดเลือดมีการตีบที่รุนแรง การรักษาจึงแบ่งออกตามผลการตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
STEMI : การทำให้หลอดเลือดที่อุดตัน หายอุดตันและทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดบริเวณที่กล้ามเนื้อหัวใจตายให้น้อยที่สุด และลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลงได้ วิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน คือ การรักษาเพื่อให้หลอดเลือดเปิด หรือ Reperfusion Therapy ให้เร็วที่สุด มีวิธีการอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ การใช้สายสวนหลอดเลือดหัวใจชนิดพิเศษดูดเอาลิ่มเลือดออกพร้อมกับการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและตามด้วยการใส่ขดลวดค้ำยัน ( Percutaneous coronary intervention, PCI ) หรือการให้ยาละลายลิ่มเลือด ( Fibrinolytic หรือ Thrombolytic Drugs )
NSTE-ACS : มีการประเมินความเสี่ยงของโรคเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายและช่วยบอกการพยากรณ์โรคในระยะสั้นได้ หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดควรได้รับการรักษาด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ และอาจทำการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและตามด้วยการใส่ขดลวดค้ำยัน ( Percutaneouscoronaryintervention, PCI ) โดยเร็ว
และหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำต่อการเสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สามารถรับการรักษาได้ด้วยยาและประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมด้วยการตรวจ Echocardiogram และ Exercise Stress Test ( เดินสายพานเพื่อทดสอบสมรรถภาพหัวใจ )