4 วิธีออกกำลังกาย บรรเทาอาการ “ข้อต่ออักเสบ”
แม้แต่คนสุขภาพดีไม่มีปัญหาเรื่องกระดูก ไขข้อ หรือกล้ามเนื้อต่างๆ ยังขี้เกียจออกกำลังกายเป็นประจำเลย ถ้าคนที่เป็นผู้ป่วยโรค “ข้อต่ออักเสบ” ที่มีอาการปวดข้อต่อตามร่างกายต่างๆ อยู่ทุกวี่ทุกวันก็คงแทบจะไม่อยากขยับร่างกายไปไหน อยากจะนั่งหรือนอนอยู่นิ่งๆ อยู่บ้านเสียด้วยซ้ำไป แต่ทราบหรือไม่ว่าการออกกำลังอย่างถูกวิธีเป็นประจำทุกวัน สามารถลดอาการปวดของข้อต่อได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าคนที่มีร่างกายปกติดีก็สามารถออกกำลังกายด้วยวิธีเหล่านี้ได้เช่นกัน
4 วิธีออกกำลังกาย บรรเทาอาการ “ข้อต่ออักเสบ”
-
ขยับร่างกายให้ขยายช่วงกว้างให้มากขึ้น
การพยายามยืดเส้นยืดสายตามร่างกายให้ได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นจากกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังช่วยพัฒนาสุขภาพข้อต่อให้มีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน พยายามออกกำลังกายด้วยการยืดแขน ขา และส่วนอื่นๆ ของร่างกายให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าขณะนั้นคุณมีอาการปวดข้ออยู่ คุณก็ยังสามารถยืดข้อต่อเหล่านั้นได้เหมือนกัน เพียงแต่พยายามทำอย่างเบามือ ค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ ไม่กระตุกยืดอย่างรุนแรง หรือรวดเร็วเกินไปเท่านั้นเอง
-
กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
กล้ามเนื้อจะแข็งแรงมากยิ่งขึ้นหากได้ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อในการเกร็งทนกับแรงต้านอะไรบางอย่างเป็นประจำ หากที่บ้านไม่มีดัมเบล ยางยืดออกกำลังกาย หรืออุปกรณ์ฟิตเนสครบครันก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณสามารถใช้น้ำหนักจากร่างกายของคุณเองนี่แหละที่เป็นแรงต้านในการออกกำลังกายได้ หากปวดข้อเข่า ลองนั่งบนเก้าอี้ เอนตัวไปด้านหน้า เอาแขนและมือแนบลำตัวด้านข้าง แล้วพยายามใช้แรงจากต้นขาลุกขึ้นจากเก้าอี้มายืนบนพื้นตามปกติโดยไม่ใช้มือจับจับเก้าอี้หรืออะไรทั้งสิ้น ยืนสักครู่ นับ 1-10 ในใจ จากนั้นค่อยกลับไปนั่งลงที่เดิมอย่างช้าๆ โดยไม่ใช้มือจับที่เก้าอี้หรืออะไรทั้งสิ้นเหมือนเดิม
-
ทนทานต่อแรงต้านได้
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือข้อต่อต่างๆ ในร่างกายของเรามีความสำคัญในการรองรับน้ำหนักของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเข่าที่รองรับน้ำหนักของลำตัวท่อนบนทั้งหมด หรือข้อศอก ข้อนิ้ว ที่ต้องส่งแรงออกไปเพื่อกิจกรรมต่างๆ เช่น ถือข้าวของ หยิบจับ โหน ดึง ฯลฯ ตลอดเวลา ดังนั้นลองออกกำลังกายด้วยแอโรบิก ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน จะทำให้คุณได้ออกกำลังหัวใจไปพร้อมๆ กับปอด และจะทำให้ร่างกายทนทานต่อแรงต้านอื่นๆ ไปด้วยโดยปริยาย สามารถออกกำลังกายแนวแอโรบิกได้ทุกอย่าง แต่เลือกเฉพาะที่ไม่ลงแรกกระแทกหนักๆ เช่น วิ่ง จ๊อกกิ้ง แต่สำหรับใครที่มีอาการปวดบวมข้อมากๆ ควรรอจนกว่าอาการจะทุเลาลงก่อน ค่อยออกกำลังกายด้วยวิธีนี้
-
รักษาสมดุลได้ดี
เพื่อฝึกให้ข้อต่อเหล่านี้ทนทานต่อแรงต้านต่างๆ ได้ ลองยืนตรงฝ่าเท้าแนบพื้น แล้วค่อยๆ ยกเท้าข้างหนึ่งสูงขึ้นจากพื้น พยายามรักษาสมดุลในการยืนด้วยขาข้างเดียวราวๆ 5 วินาที จากนั้นก็ลองสลับขาเป็นอีกข้างหนึ่ง และค่อยๆ เพิ่มเวลายืนด้วยขาข้างเดียวสลับกันไปเรื่อยๆ ครั้งละ 5 วินาที จนกลายเป็นยืนขาข้างเดียวได้นาน 30 วินาทีโดยไม่ล้มลงมาเสียก่อน ทำแบบนี้บ่อยๆ นอกจากจะช่วยรักษาสมดุลในการยืนได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มแรงต้านต่อข้อต่อให้แข็งแรงขึ้นได้ง่ายๆ
หากออกกำลังกายตามวิธีเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง อาจมีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจออกกำลังกายผิดวิธี หรือมีความผิดปกติอื่นๆ นอกจากอาการปวดข้อ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวให้ดีทั้งก่อน และหลังช่วงที่ออกกำลังกาย เพื่อออกกำลังกายได้อย่างถูกวิธี เพื่อบรรเทาอาการข้อต่ออักเสบได้จริง ไม่ทำให้อาการแย่ลงจะดีกว่า