ทำไม? จอดรถนอน-ทิ้งเด็กไว้ในรถ ถึงเสียชีวิต

ทำไม? จอดรถนอน-ทิ้งเด็กไว้ในรถ ถึงเสียชีวิต

ทำไม? จอดรถนอน-ทิ้งเด็กไว้ในรถ ถึงเสียชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอกจากการขับรถอย่างมีสติ ไม่ประมาทแล้ว เจ้าของรถควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถในสถานการณ์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การจอดรถนอนเพื่อพักสายตา หรือการเปิดเครื่องแล้วทิ้งเด็กเล็กเอาไว้ในรถเพื่อลงไปทำธุระในเวลาไม่นาน ความประมาทเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตโดยไม่ทันตั้งตัวได้

 

อันตรายจากการจอดรถนอน

คนขับรถทางไกลหลายคนอาจเคยจอดรถข้างทางเพื่อนอนพักสายตา ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถทำแบบนี้ได้ แต่หากเรานอนปิดประตูหน้าต่าง แล้วเดินเครื่องเบาค้างเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ ไอเสียบางส่วนที่มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะถูกพัดลมของแอร์ดูดเข้าไปในห้องโดยสาร แม้จะเป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่หากปล่อยให้ไอเสียรถยนต์เข้ามาในห้องมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ร่างกายของเราสูดดมเอาก๊าซพิษเข้าไปในร่างกายมากขึ้น นอกจากจะทำให้เราเซื่องซึม มึนศีรษะ ร่างกายสั่งกระตุก หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดปกติ ไปจนถึงหมดสติได้แล้ว หากยังได้รับก๊าซนั้นอย่างต่อเนื่องไปอีก 5-6 ชั่วโมง อาจทำให้เสียชีวิตคาเบาะรถยนต์อย่างที่เราเคยเห็นกันในข่าวได้เลยทีเดียว

 

การจอดรถนอนที่ถูกต้อง

  1. แนะนำให้จอดรถในปั้มน้ำมันที่มีคนบริการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เงียบสงัดไร้คนจนเกินไป หรือเป็นจุดที่ใกล้แหล่งชุมชน ป้อมยาม ป้อมตำรวจ หรือที่ๆ มีแสงไฟสลัวๆ ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยชีวิต และทรัพย์สิน

  2. จอดรถ ดับเครื่องยนต์ แล้วเปิดกระจกหน้าต่างแง้มลงเล็กน้อยพอหายใจสะดวก

  3. ปรับเบาะเอนอย่างเหมาะสม เอนมากเอนน้อยแล้วแต่ความสบายเฉพาะตัวของแต่ละคน

  4. บิดกุญแจรถยนต์ไปที่ ON เพื่อให้เครื่องยนต์ดับแต่ยังระบบไฟฟ้าต่างๆ ภายในรถยังคงทำงานอยู่ จากนั้นจึงเปิดสวิทช์แอร์ แล้วเลือกกดปุ่มหรือบิดให้พัดลมดูดอากาศจากภายนอกให้ไหลเวียนเข้าสู่ห้องโดยสาร แม้จะไม่เย็นเหมือนเปิดแอร์พร้อมให้น้ำยาแอร์ทำงาน แต่แค่พัดลมที่ทำงานอยู่ก็พอจะทำให้เรานอนหลับได้ไม่ขาดอากาศหายใจ หรือรมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ไปทั่วห้องโดยสารได้ (ไม่ต้องกลัวเปลืองแบตเตอรี่ เพราะแบตเตอรี่ขนาด 60 แอมป์ สามารถใช้ได้ยาวนานมากถึง 3-4 ชั่วโมงเลยทีเดียว)

  5. ตั้งเวลาปลุกด้วยมือถือ ไม่ควรนอนหลับเกิน 30 นาที สำหรับการแวะเงียบเพื่อพักสายตาเพื่อการเดินทางต่อไป

  6. เมื่อตื่นขึ้น หากยังรู้สึกง่วง ไม่สดชื่น ให้แวะล้างหน้า หาเครื่องดื่ม หรืออาหารทานก่อนขับรถ หรืออาจเปิดเพลงเร็วๆ ฟังเพื่อกระตุ้นโสตประสาทให้ตื่นอย่างเต็มที่

 

การทิ้งเด็กเอาไว้ในรถยนต์

การทิ้งเด็กเล็ก เช่น เด็กอายุราว 3-7 ปี ที่ยังใช้ปุ่มต่างๆ ในรถยนต์ไม่เป็น อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่สูญเสียเจ้าตัวน้อยไปได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วคุณพ่อคุณแม่มักทิ้งลูกเอาไว้ในรถ ล็อกรถเพื่อความปลอดภัย ในขณะที่เดินเครื่องเบาๆ เอาไว้พร้อมเปิดแอร์เย็นฉ่ำ แต่หารู้ไม่ว่ามันมีโอกาสที่เด็กๆ จะมือซนไปกดปุ่มล็อครถ จนทำให้ผู้ใหญ่เดินมาเปิดรถไม่ได้ เพราะเป็นการล็อครถจากด้านใน ต้องวุ่นวายหาวิธีงัดหน้าต่างกันยกใหญ่ งัดได้ก็รอด งัดไม่ได้ก็อาจทำให้เด็กได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จนเวียนศีรษะ หน้ามืด อาเจียน หรืออาจจะหมดสติได้

กรณีนี้ยังไม่น่าตกใจเท่าเด็กที่ถูกลืมทิ้งเอาไว้ในรถ เช่น รถยนต์ หรือรถโรงเรียน ที่เด็กอาจเผลอหลับ ไม่ได้ลงมาจากรถพร้อมเพื่อนๆ จากนั้นคนขับก็จอดรถปิดประตู ทิ้งรถเอาไว้กลางแจ้งท่ามกลางแดดร้อนๆ ส่วนใหญ่แล้วที่เด็กเสียชีวิตไม่ได้มาจากการขาดอากาศหายใจ แต่มาจากอากาศภายในรถที่ร้อนมาก การจอดรถทิ้งไว้กลางแดด 5 นาที อาจทำให้อุณหภูมิภายในรถเพิ่มขึ้นจนสามารถทนอยู่ได้แค่ 10 นาที และเมื่อเด็กถูกทิ้งไว้ในรถที่จอดกลางแดดมากกว่า 30 นาที ร่างกายของเด็กอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวม และอาจหยุดหายใจจนเสียชีวิตได้ในที่สุด

 

วิธีป้องกันอันตรายจากการทิ้งเด็กเอาไว้ในรถยนต์ (ทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจ)

  1. ไม่ทิ้งเด็กเอาไว้ในรถแต่เพียงลำพังคนเดียว หากจะลงไปทำธุระควรพาเด็กออกไปด้วย

  2. ครูบาอาจารย์ รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็กในรถโรงเรียน ควรนับจำนวนเด็กทุกครั้งทั้งตอนขึ้น และลงจากรถว่ามีจำนวนเท่าเดิมหรือไม่ เดินตรวจตราพร้อมตะโกนเรียกเด็กๆ ภายในรถให้ดีว่าไม่มีเด็กคนไหนอยู่ในรถแล้วจริงๆ ก่อนจะปล่อยให้คนจับขับรถออกไป

  3. หากพบเห็นเด็กถูกลืมทิ้งไว้ในรถที่ไม่สามารถเปิดประตูเข้าไปได้ ควรรีบตามเจ้าของรถ หรือร้องเรียกให้คนรอบข้างช่วยกันรีบตามหาเจ้าของรถ และโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

>> ไขปริศนา...นอนในรถ..ทำไมถึงตายได้??

>> 5 เคล็ดลับเตรียมร่างกาย ก่อนขับรถทางไกล "ไม่ง่วง"

>> ระวัง! แอร์รถยนต์สกปรก ราขึ้นรถ สาเหตุสุขภาพพัง

>> จริงหรือไม่? ควันรถยนต์ เสี่ยงมะเร็งปอด-กระเพาะปัสสาวะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook