8 อาการบ่งบอกว่ากำลังถูก “งูพิษ” กัด
ด้วยสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติของบ้านเรา สามารถพบเห็น “งู” ได้ทั่วไปตามบ้านเรือน ท้องถนน รวมถึงในแหล่งธรรมชาติอย่างไหล่ทางที่เป็นป่า พุ่มไม้ ดังนั้นในปีหนึ่งๆ เราอาจพบเห็นคนที่ประสบอุบัติเหตุโดนงูกัดได้ไม่มากก็น้อย ทั้งเป็นงูที่มีพิษ และไม่มีพิษ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นงูที่มีพิษกัด การรักษาจะแตกต่างจากงูที่ไม่มีพิษอย่างมาก รวมถึงอันตรายต่อร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นเราควรทราบให้เร็วที่สุดว่าผู้ป่วย หรืออาจจะเป็นตัวเราเอง ว่าโดนงูพิษ หรือไม่มีพิษกัดกันแน่
อาการบ่งบอกว่ากำลังถูก “งูพิษ” กัด
- รอยเขี้ยวจะเป็นจุดสองจุดเหมือนเขี้ยวแหลมของงู (ต่างจากงูไม่มีพิษที่รอยฟันกัดจะเป็รฟันซี่เล็กหลายๆ ซี่ และกัดไม่ลึกเท่างูมีพิษ)
- มีอาการปวดบวมอย่างเห็นได้ชัด
- อาจมีรอยฟกช้ำ หรือถุงน้ำพอง จากพิษของงู
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก
- กลืนลำบาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห็ง อ่อน หรือของเหลว เช่น น้ำลายตัวเอง
- เลือดไหลไม่หยุด ไม่ว่าจะจากบาดแผล หรือเลือดออกตามไรฟัน ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
- หากโดนงูแมวเซากัด อาจทำให้เกิดอาการไตวายได้
- หากมีอาการรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสี่ยงอัมพาต หรือเสียชีวิตได้
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูพิษกัด
ด้านสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีการดูแลรักษาคนเจ็บก่อนมาถึงโรงพยาบาล เพื่อเป็นการชะลอการแทรกซึมของพิษงูไว้ดังนี้
- พยายามให้บริเวณที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยเฉพาะอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัด ซึ่งจะชะลอการซึมของพิษงูเข้าสู่ร่างกายได้
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีด ตัด ดูด จี้ไฟ หรือพอกยาบริเวณแผลที่ถูกงูกัด เนื่องจากอาจทำให้มีการติดเชื้อได้ และการดูดแผลงูกัด อาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูดพิษได้
- นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และนำงูที่กัดมาด้วยถ้าเป็นไปได้ แต่หากหาไม่เจอ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหางูแต่อย่างใด
>> ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง “งูกัด” ต้องทำอย่างไร
>> เตือนภัยหน้าฝน! งูพิษ 7 ชนิดคนไทยโดนกัดบ่อย-อันตรายถึงชีวิต