“ฝีในอวัยวะเพศ” กับสาเหตุของโรค พร้อมการรักษา และวิธีป้องกัน
โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในบริเวณอวัยวะเพศ มักเป็นเรื่องที่หลายคนไม่กล้าที่จะเข้าไปให้แพทย์ตรวจ เพราะมีความเขินอาย แต่จริงๆ แล้วเราควรปล่อยให้เป็นหน้าที่แพทย์ที่จะวินิจฉัย ประเมิน และทำการรักษาอย่างถูกต้อง ก่อนที่จะสายเกินแก้ เช่นเดียวกันกับโรค “ฝีในอวัยวะเพศ” ที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย และหากไม่ทำการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดซ้ำได้เรื่อยๆ และเป็นอันตรายมากขึ้นในภายหลัง
“ฝีในอวัยวะเพศ” คืออะไร?
ฝีในอวัยวะเพศ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ฝีในต่อมบาร์โธลิน” หรือ “ต่อมบาร์โธลินอักเสบ” เป็นอาการที่ต่อมบาร์โธลินที่อยู่บริเวณด้านซ้ายและขวาของปากช่องคลอด ตำแหน่งที่ 4 และ 8 นาฬิกา และทำหน้าที่ผลิตเมือกในช่องคลอดให้กับผู้หญิงเกิดอาการอักเสบ
ส่วนฝีในอวัยวะเพศอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามบริเวณที่มีขนขึ้น นั่นเป็นเพียงฝีปกติที่เกิดขึ้นจากสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันรูขุมขน จนอาจทำให้เกิดอาการอักเสบ เป็นก้อนหนอง หรือเป็นไตๆ เหมือนฝีที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นในร่างกาย
สาเหตุของโรคฝีในอวัยวะเพศ
- ทำความสะอาดไม่ดีพอ เกิดการหมักหมมของหลายๆ อย่างบริเวณปากช่องคลอด เช่น เหงื่อไคล เมือก คราบอสุจิหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
- ติดเชื้อโรคที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรียที่อวัยวะเพศอยู่แล้ว
- สวมกางเกงใน กางเกง หรือเสื้อผ้าต่างๆ ที่รัดแน่นคับ หรืออับชื้นจนเกินไป
- ใช้ผ้าอนามัยโดยไม่เปลี่ยนตามเวลาที่เหมาะสม
- สามารถเป็นได้ทั้งผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว และมีความเสี่ยงสูงยิ่งขึ้นหากเป็นผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
อาการของโรคฝีในอวัยวะเพศ
- มีอาการเจ็บๆ บริเวณระหว่างขา ทั้งเวลานั่ง เดิน นอน หรือทำกิจกรรมต่าง
- เริ่มบวมเป็นก้อน อาจเป็นก้อนที่ข้างซ้าย หรือข้างขวา ข้างใดข้างหนึ่ง
- มีอาการปวดในบริเวณที่บวมเป็นก้อน
- อาจปวดบวมจนมีไข้
- หากปล่อยให้มีอาการปวดบวมอักเสบไปเรื่อยๆ ฝีหนองอาจจะแตกออกมาได้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
การรักษาโรคฝีในอวัยวะเพศ
หากเป็นฝีในระยะแรกๆ แพทย์อาจให้เราทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้มากขึ้น ทานยาแก้อักเสบ และยาฆ่าเชื้อ และและนัดตรวจเช็กอีกครั้ง หากก้อนฝีมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาการฉีดยา หรือผ่าตัดเล็ก โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อเปิด เจาะ หรือกรีดระบายเอาหนองออกมาให้หมด ทำความสะอาดแผล แล้วรับยาไปทานต่อที่บ้าน
อันตรายจากโรคฝีในอวัยวะเพศ
หากเป็นฝีแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี นอกจากจะเสี่ยงปวดบวมอักเสบ และติดเชื้อในกรณีที่ฝีแตกในเวลาต่อมาแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเป็นฝีในตำแหน่งเดิมได้ซ้ำๆ เนื่องจากหนองใรฝียังออกมาไม่หมด และยังคงเหลือถุงที่ห่อหุ้มฝีหนองท่างกานสร้างขึ้นมาห่อหุ้มหนองเอาไว้ไม่ให้หนองกระจายไปที่ส่วนอื่นภายในร่างกายเอาไว้ ซึ่งอาจทำให้ยังคงมีหนองเหลืออยู่บ้าง จนทำให้เกิดเป็นฝีหนองซ้ำได้ นอกจากนี้แผลของฝีหนองก็จะไม่เรียบเนียน จะเป็นก้อนเล็กๆ แข็งๆ ไตๆ เพราะอาจมีการสร้างฝีหนองเอาไว้อยู่ภายในชั้นใต้ผิวหนัง เป็นฝีหนองแบบไม่มีหัวได้
การป้องกันโรคฝีในอวัยวะเพศ
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศเป็นประจำทุกวัน ใช้เพียงน้ำเปล่าธรรมดาๆ ล้างทำความสะอาดก็ได้ หรืออาจใช้น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นโดยเฉพาะก็ได้ โดยทำความสะอาดเพียง 1 ครั้งต่อ 1 วัน และทำความสะอาดแค่ภายนอก บริเวณปากช่องคลอด ไม่ต้องล้วงลึกเข้าไปในช่องคลอด เพราะอาจทำให้สูญเสียแบคทีเรียดีๆ ที่เอาไว้ต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ ภายนอกได้ รวมถึงเสี่ยงต่อการอักเสบได้เช่นกัน
- ขณะมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยเป็นประจำ อย่าให้ปากช่องคลอดอักชื้นอยู่ตลอดเวลา ความบ่อยของการเปลี่ยนผ้าอนามัยขึ้นอยู่กับปริมาณประจำเดือนที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ แต่พยายามอย่าให้อวัยวะเพศอับชื้นนานๆ
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้งหลังทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ รวมถึงหลังมีเพศสัมพันธ์ด้วย
- หากพบว่ามีก้อนฝีหนอง อย่าพยายามบีบหนองออกมาด้วยตัวเอง เพราะเสี่ยงติดเชื้อจากมือ หรือเล็บที่เราใช้บีบ รวมถึงเสี่ยงติดเชื้อเมื่อปากแผลเปิด แล้วเราทำความสะอาดแผลไม่ดีพอ (เพราะเราอาจกลัวเจ็บ กลัวแสบจนไม่สามารถทำความสะอาดไปถึงส่วนลึกของแผลได้)
- หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนที่สุด ไม่ต้องเขินอาย ยิ่งพบแพทย์เร็วเท่าไร ยิ่งรักษาหายง่าย และเจ็บปวดน้อยมากเท่านั้น