หญิงตั้งครรภ์ควรรู้! สัญญาณอันตราย เสี่ยงครรภ์ "คลอดก่อนกำหนด"
ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานช้า ส่งผลทำให้มีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งหากตั้งครรภ์ตอนอายุมากๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ การฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่มีประสบการณ์ พร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีครบครัน ที่สำคัญคือมีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคอยดูแล ย่อมช่วยให้คลอดเจ้าตัวน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัย
ทำไม ผู้หญิงตั้งครรภ์วัยมากกว่า 35 ปี ถึงเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด?
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปี ถือเป็นตัวเลขอายุที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด เนื่องมาจากวัยที่เพิ่มมากขึ้น
การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) เป็นภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ซึ่งทารกเหล่านี้ถึงแม้ว่าอวัยวะต่างๆ จะครบสมบูรณ์ แต่การทำงานของอวัยวะแทบทุกส่วนยังไม่เท่าทารกที่ครบกำหนด ทำให้ช่วงหลังคลอดของทารกที่คลอดก่อนกำหนด มักต้องการการดูแลเป็นพิเศษและอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ
สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด
เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยคือ ทั้งจากแม่และเด็ก
ปัจจัยจากแม่ ได้แก่
- อายุ โดยเฉพาะแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป หรืออาจเป็นคุณแม่วัยใสที่อายุน้อยกว่า 18 ปีก็ถือเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน เนื่องมาจากการดูแลตัวเองที่ยังไม่ดีพอ
- โรคประจำตัวต่างๆ ถ้าคุณแม่มีโรคประจำตัวก็ถือว่าเป็นครรภ์เสี่ยง หรือเป็นโรคในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ครรภ์ต่อมาก็มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน
- มดลูกมีความผิดปกติ เช่น ปากมดลูกสั้น มีโอกาสทำให้เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้
- ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์
- การติดเชื้อ ครรภ์ที่โตขึ้นมีโอกาสไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กระตุ้นให้เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้
ปัจจัยจากเด็ก คือ หากบุตรในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซมหรือมีภาวะติดเชื้อ อาจทำให้แม่มีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้ ทั้งนี้โครโมโซมที่ผิดปกติในเด็กจะแปรผันตามอายุแม่ที่เพิ่มมากขึ้น
สัญญาณเตือน "คลอดก่อนกำหนด"
หากคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์สม่ำเสมอ 4 ครั้งภายใน 20 นาที และมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบมาโรงพยาบาล
วิธีป้องกันการคลอดก่อนกำหนด โดยทีมแพทย์
หากมาถึงรพ.เร็ว แพทย์สามารถให้ยายับยั้งการคลอดไว้ก่อนได้ เช่น ฉีดยากระตุ้นการเจริญของปอด การให้ยายับยั้งการหดตัวของมดลูก ทำให้ลูกสามารถอยู่ในครรภ์คุณแม่ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนดได้ เพราะ 1 วันที่เด็กอยู่ในท้องของแม่ ดีกว่าที่เขาจะออกมาเติบโตอยู่ข้างนอกเพราะคลอดก่อนกำหนด ให้พัฒนาการทางการเจริญเติบโตของเด็กเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น แต่หากเด็กคลอดก่อนกำหนด ออกมาเจอกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกับอยู่ในครรภ์แม่ โอกาสแทรกซ้อนก็จะมีได้มากกว่า ถึงแม้จะมีการดูแลอย่างดีแต่ก็ไม่สามารถไปเลียนแบบเหมือนกับตอนที่เด็กอยู่ในท้องแม่ได้
การประเมินครรภ์เสี่ยงเพื่อเช็กว่าคลอดก่อนกำหนด
- การตรวจภายในโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ความกว้าง ระยะห่าง ขนาดตัวและตำแหน่งทารกในครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
- ตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อวัดความยาวและดูรูปร่างของปากมดลูกในการประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงและโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- เจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis) เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของทารกและภาวะติดเชื้อต่างๆ
อันตรายของทารกที่คลอดก่อนกำหนด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนด อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ และส่งผลต่อระบบร่างกายดังนี้
- ปอด พบปัญหาเรื่องการขาดสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ได้ในทารกคลอดก่อนกำหนด สารลดแรงตึงผิว ปอดเราจะมีถุงลมคล้ายกับลูกโป่ง สารลดแรงตึงผิวมีหน้าที่ทำให้ถุงลมไม่แฟบ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดสารลดแรงตึงผิวจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ถุงลมแฟบ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะต้องใช้แรงในการหายใจค่อนข้างมากเพื่อไปเปิดถุงลมของเขา ทำให้เกิดอาการเหนื่อย ทารกจะมีอาการหายใจหอบและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- หัวใจ อาจมีปัญหาจากการที่เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจเพื่อไปเลี้ยงร่างกายกับเส้นเลือดที่ไปสู่ปอดยังเปิดอยู่ (PDA) จะทำให้มีเลือดผ่านไปสู่ปอดมาก เป็นผลทำให้ทารกหายใจหอบและอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้
- สมอง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองของทารกแรกคลอดค่อนข้างเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะแตกง่าย
- ลำไส้ เนื่องจากลำไส้ของเด็กยังบอบบาง การย่อยและการดูดซึมอาหารยังไม่ดีนัก ทำให้ต้องให้นมทีละน้อยๆ และอาจต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย แต่คุณแม่อาจเข้ามามีบทบาทช่วยได้ในเรื่องของนมแม่ เพราะข้อดีของนมแม่คือย่อยง่ายและมีภูมิต้านทานค่อนข้างมาก ซึ่งจะช่วยระบบย่อยของลูกให้ดีขึ้นได้
- ดวงตา จอประสาทตายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ หลังเกิดอาจมีการพัฒนาของเส้นเลือดจอประสาทตาผิดปกติ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารกได้
- หู เสี่ยงที่จะมีความบกพร่องต่อการได้ยิน
- การติดเชื้อ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้ในระยะยาวอาจจะมีผลกระทบต่อความบกพร่องทางปัญญา พฤติกรรม พัฒนาการทางด้านต่างๆ ได้ การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิดจะให้การดูแลเบื้องต้นคือ ให้ข้อมูลพูดคุยรายละเอียดและคำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ ติดตามอาการของทารกอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทารกให้เหมาะสม ดูแลรักษาทารกจนมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2,000 กรัม จึงจะกลับบ้านได้ ทารกสามารถหายใจและรับประทานนมได้เอง เตรียมความพร้อมให้กับคุณพ่อคุณแม่ก่อนกลับไปบ้าน ที่สำคัญคือเรื่องพัฒนาการ เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีความเสี่ยงเรื่องพัฒนาการช้ากว่าเด็กที่คลอดครบกำหนดทั่วไปได้ ต้องมีการตรวจเช็กเฝ้าติดตามอาการและนัดพบคุณหมอด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้เขาใกล้เคียงกับเด็กปกติ
การวางแผนก่อนตั้งครรภ์และฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคือสิ่งสำคัญ เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องเพื่อกลับไปใช้ชีวิตและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญการใส่ใจดูแลครรภ์ ระมัดระวังในการรับประทานอาหารและการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้