วิธีสังเกตอาการระหว่าง "ซึมเศร้า" กับ "ไบโพลาร์"

วิธีสังเกตอาการระหว่าง "ซึมเศร้า" กับ "ไบโพลาร์"

วิธีสังเกตอาการระหว่าง "ซึมเศร้า" กับ "ไบโพลาร์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคซึมเศร้า คือโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติของสารเซโรโทนินในสมองมีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางร่างกายจิตใจและความคิด รู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง กระทั่งส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง และอาจตกอยู่ในภาวะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าจนอยากฆ่าตัวตายได้ แต่จุดเด่นของโรคซึมเศร้าอยู่ที่อารมณ์เบื่อเศร้าจะค่อนข้างชัดเจน

แต่สำหรับ โรคไบโพลาร์ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์สองขั้ว คือภาวะแมเนียและภาวะซึมเศร้า กล่าวคือไบโพลาร์จะมีลักษณะที่มีอารมณ์ช่วงหนึ่ง สนุกสนานครื้นเครง รื่นเริง สลับกับอารมณ์ซึมเศร้าอีกช่วงหนึ่ง เราจึงเรียกไบโพลาร์ว่าโรคเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางคนอาจจะเรียกว่าโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคคนสองบุคลิกนั่นเอง

 

ความแตกต่างระหว่างโรคซึมเศร้ากับโรคไบโพลาร์

จุดเด่นที่ทำให้โรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์มีความแตกต่างกันก็คือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะรู้สึกเบื่อหน่ายและเศร้าแทบจะตลอดเวลา ขณะที่ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์อาจมีภาวะซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ร่าเริงเกินปกติ บุคลิกของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะสลับสับเปลี่ยนกันเหมือนเป็นคนละคน เช่น เราอาจเคยเห็นเพื่อนหรือคนที่อยู่รอบข้างที่อยู่ดีๆ ก็ขยันทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางคนเวลาพูดคุยด้วยจะสังเกตว่าพูดมาก พูดเร็ว แต่ดูกระจัดกระจายไม่ปะติดปะต่อ เปลี่ยนเรื่องเร็วจนตามไม่ทัน บางคนที่เป็นมากอาจมีความคิดหลงผิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ มีพลังอำนาจวิเศษเหนือธรรมชาติ หรือมีอารมณ์หงุดหงิดมาก ความอดทนต่ำหุนหันพลันแล่น อาจถึงขั้นอาละวาดทำร้ายคนหรือสิ่งของได้

 

วิธีสังเกตอาการระหว่างโรคซึมเศร้ากับโรคไบโพลาร์

อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า : รู้สึกกลุ้มใจ ซึมเศร้าทุกวันและเกือบจะทั้งวัน รู้สึกเบื่อกับทุกอย่างรอบตัวเป็นประจำ ไม่อยากสังสรรค์หรือออกสังคม เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ กระวนกระวายหรือมีอาการซึมๆ เนือยๆ ไร้เรี่ยวแรง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย รู้สึกไร้ค่า ร้องไห้ง่ายโดยไม่มีสาเหตุ มีอาการใจลอย ไม่มีสมาธิ หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเดิมๆ เบื่อชีวิต มีบางช่วงที่รู้สึกอยากตาย เป็นต้น

อาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ : มักเกิดอาการซึมเศร้าครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน อีกทั้งยังมีอาการเป็นพักๆ เดี๋ยวเศร้าเดี๋ยวปกติวนไปมาหลายครั้ง ความคิดช้าลง พฤติกรรมต่างๆ ก็ช้าลงเช่นกัน รู้สึกโดดเดี่ยว ขาดกำลังใจ เหมือนกลายเป็นคนไร้ค่า มองโลกในแง่ร้ายไปหมด รู้สึกว่าโลกไม่สดใส ไม่มีอะไรน่าสนุก ไม่ร่าเริง มีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรง ตกอยู่ในสภาวะหลงผิด อารมณ์ผิดปกติจนอาจควบคุมความประพฤติของตัวเองไม่ได้ เป็นต้น

 

การรักษาโรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์

ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษา ในบางรายมีความจำเป็นจะต้องให้ยาปรับอารมณ์ให้คงที่ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามคนที่เป็นโรคไบโพลาร์ ส่วนใหญ่เมื่อได้รับประทานยา อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติ และสามารถทำงาน ใช้ชีวิตปกติได้เหมือนไม่เคยป่วยมาก่อน

ที่สำคัญคือระวังการกำเริบของโรค เพราะผู้ป่วยไบโพลาร์ ช่วงเมเนียมักไม่คิดว่าตัวเองป่วย หากอาการดีขึ้นก็มักหยุดยาเอง ซึ่งโรคจะกำเริบได้หากรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ รวมถึงการพักผ่อนไม่เป็นเวลา การดื่มแอลกอฮอล์และความเครียด

ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้จึงไม่ควรทำงานที่พักผ่อนไม่เป็นเวลา เช่น งานที่ต้องอยู่เวรเป็นกะ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่สร้างความเครียดหรือกดดันมากเกินไป อย่างไรก็ตาม อาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น บางครั้งอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคไบโพลาร์ก็ได้ ดังนั้นการไปพบจิตแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook