วิธีสุดเจ๋ง รับมือกับอาการเจ็ตแล็ก (Jet lag)
สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางข้ามเขตเวลา (Time zone) หรือต้องทำงานเป็นกะ อาจเคยมีอาการเซื่องซึม อ่อนเพลีย โมโหง่าย เฉื่อยชา หรือสับสนมึนงง กลุ่มอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่า คุณอาจประสบกับอาการเมาเวลา หรือ อาการเจ็ตแล็ก เข้าแล้ว
อาการเมาเวลา หรือ เจ็ตแล็ก คืออะไร
อาการเมาเวลา หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เจ็ตแล็ก (Jet lag) คือ อาการผิดปกติด้านการนอนที่เกิดขึ้นชั่วคราว กับผู้เดินทางข้ามเขตเวลาตั้งแต่ 2 เขตเวลาขึ้นไปภายในระยะเวลาอันสั้น ร่างกายมนุษย์มีนาฬิกาชีวภาพ หรือนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) ทำงานเป็นวงจร 24 ชั่วโมง ซึ่งถูกควบคุมโดยแสงสว่างและอุณหภูมิ นาฬิกานี้จะคอยส่งสัญญาณบอกร่างกายว่า ควรนอนและตื่นเมื่อใด เมื่อคุณเดินทางข้ามเขตเวลา ระบบนาฬิกาชีวภาพของคุณจะรวน ร่างกายยังยึดติดอยู่กับเขตเวลาเดิม ไม่ปรับระบบตามเขตเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทาง นี่เองที่ทำให้คุณเมาเวลา ยิ่งเดินทางข้ามเขตเวลาหลายเขตภายในระยะเวลาอันสั้น หรือเดินทางไปทางทิศตะวันออก อาการเมาเวลาก็จะยิ่งรุนแรงและยาวนานขึ้น อาการเจ็ตแล็กนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยหากเป็นผู้สูงอายุ อาการจะรุนแรงและหายได้ช้ากว่าคนวัยอื่น ไม่ใช่แค่ผู้ที่ต้องเดินทางข้ามเขตเวลา แต่คนที่ต้องทำงานเป็นกะ ก็สามารถประสบกับอาการเมาเวลาได้เช่นกัน
อาการที่อาจเกิดตามมา หลังคุณเมาเวลา
- ปวดศีรษะ
- เซื่องซึม เฉื่อยชา
- เบื่ออาหาร
- โมโหง่าย
- เหนื่อยล้าในตอนกลางวัน
- รู้สึกไม่สบายตัว
- ร่างกายไม่ตื่นตัว
- มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเช้าเกิน หรือนอนหลับมากไป
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และช่องท้อง เช่น ท้องผูก ท้องเสีย
สำหรับผู้ที่มีอาการเมาเวลา อาจมีอาการเหล่านี้หลายอาการพร้อมกัน หรือมีเพียงอาการเดียวก็ได้ แม้อาการเมาเวลานี้จะเกิดเพียงชั่วคราว แต่ก็สามารถลดทอนความรู้สึกสบาย ยามเดินทางพักผ่อนหรือทำงานต่างประเทศของคุณได้มากทีเดียว
ทำตามนี้... ช่วยลดอาการเมาเวลาได้
ก่อนเดินทาง
- พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เดินทางทั้งที่เหนื่อยล้า เมาค้าง หรือป่วยไข้
- ปรับเปลี่ยนระบบนาฬิกาชีวิตล่วงหน้า 2-3 วันก่อนเดินทาง หากจะเดินทางไปฝั่งตะวันตก ให้เข้านอนช้าลงประมาณ 1-2 ชั่วโมง หากจะเดินทางไปฝั่งตะวันออก ให้เข้านอนเร็วขึ้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง รวมถึงปรับเวลาอาหารแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกับเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทางด้วย
- สำหรับเส้นทางระยะยาว หากเป็นไปได้ ควรเลือกเดินทางแบบมีจุดพัก หรือเปลี่ยนเครื่องกลางทาง
ระหว่างเดินทาง
- ปรับเวลานาฬิกาให้ตรงกับเวลาท้องถิ่นของจุดหมายปลายทาง
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือกินอาหารมื้อใหญ่บนเครื่องบิน
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ เพื่อลดภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- หากเป็นเที่ยวบินระยะยาว ควรตื่น ลุกยืดเส้นยืดสาย หรือลุกเดินเป็นระยะ เพื่อให้ตื่นตัวอยู่เสมอ
- พยายามนอนบนเครื่องบินให้หลับ หากจุดหมายปลายทางของคุณเป็นเวลากลางคืน หากกลัวนอนไม่หลับ ลองใช้ที่อุดหู หูฟัง หรือผ้าปิดตาเป็นตัวช่วยลดเสียงและแสงรบกวน จะได้หลับง่ายขึ้น
หลังจากถึงจุดหมายปลายทาง
- หลีกเลี่ยงการนัดงานหรือทำธุระสำคัญในวันแรกที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง หากเลี่ยงไม่ได้ ควรไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น 1-2 วัน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาปรับตัว
- กินอาหารแต่ละมื้อให้ตรงกับเวลาท้องถิ่น
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อหนัก หรือออกกำลังกายหนักเกินไปในวันแรกที่ไปถึง
- อย่าลืมออกไปใช้ชีวิตในกลางแจ้ง รับแสงแดดบ้าง เพื่อช่วยให้นาฬิกาชีวิตปรับตัวได้ดีขึ้น หากเดินทางไปฝั่งตะวันตก ให้รับแดดเช้าเลี่ยงแดดบ่าย หากเดินทางไปฝั่งตะวันออก ให้รับแดดบ่ายเลี่ยงแดดเช้า
- ดื่มน้ำให้มากๆ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
- หากตอนกลางวันคุณง่วงนอน ควรนอนหลับสักงีบ (ประมาณ 20-30 นาที) เพื่อให้ไม่อ่อนเพลียในตอนกลางวัน และยังคงหลับได้ในตอนกลางคืน
- ปรึกษาหมอเรื่องใช้ยาช่วยให้นอนหลับในตอนกลางคืน
อาการเมาเวลา หรือ เจ็ตแล็ก เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่หากคุณเดินทางบ่อยและประสบกับอาการเมาเวลาเป็นประจำ ควรปรึกษาหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อจะได้แก้ปัญหาการนอนได้อย่างตรงจุด