ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อาการที่คุณแม่อาจต้องเผชิญ และวิธีป้องกัน
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (hormone swing) เปลี่ยนจากหญิงตั้งครรภ์มาเป็นคุณแม่ที่ต้องให้นมบุตร ต้องรับมือกับเด็กที่เกิดใหม่ที่คุณแม่หลายคนยังตั้งตัวไม่ติด กังวลทุกครั้งที่ลูกร้อง หรือควบคุมลูกตัวเองไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคุณแม่ เกิดอารมณ์แปรปรวนจนบางรายอาจไม่สามารถควบคุมได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลายๆ ท่าน คนรอบตัวควรทำความเข้าใจ ให้กำลังใจ และคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างใกล้ชิด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
-
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่เกิดจากการปรับตัวหลังคลอดไม่ค่อยได้
ทั้งมีความกังวลในเรื่องของลูก ลูกแข็งแรงดีไหม ถ้าลูกร้องควรทำอย่างไร ทำไมลูกไม่ดูดนมจากเต้า ฯลฯ อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์แรก เมื่อคุณแม่ปรับตัวได้ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์
-
โรคซึมเศร้าหลังคลอด
คุณแม่มีอาการรุนแรงมากขึ้น ยังคงมีความกังวลหลังคลอดมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป จนมีอาการอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย บางครั้งมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ความผูกพันกับลูกหายไป บางครั้งเริ่มผุดความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูก เป็นต้น
ระยะนี้อาจมีอาการยาวนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ไปจนถึงหลายเดือน ควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ก่อนที่จะเป็นหนักมากกว่าเดิมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งกาย และใจของคุณแม่ และลูกน้อย เพราะโรคซึมเศร้าหลังคลอดลักษณะนี้ไม่สามารหายได้เอง
-
โรคจิตหลังคลอด
มักเกิดขึ้นหลังคุณแม่คลอดบุตรเพียง 1-4 วัน คุณแม่อาจมีอาการฉุนเฉียว ร้องไห้ง่าย สลับกับคึกคักมากผิดปกติ คล้ายอาการไบโพลาร์ และอาจมีอาการไปถึงหูแว่ว ประสาทหลอน ไปจนถึงได้ยินเสียงที่สั่งให้ฆ่าลูกของตัวเองเลยทีเดียว
อาการของโรคจิตหลังคลอด ส่งผลให้คุณแม่มีอาการหวาดกลัวมาก นอนไม่หลับ น้ำหนักลดมาก และต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลกับทีมแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดพร้อมกับลูก เพราะไม่สามารถปล่อยให้อยู่กับลูกเพียงลำพังที่บ้าน อาจเกิดอันตรายทั้งกับตัวเองและลูกได้
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่ทุกคนสามารถเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ เพียงแต่หากมีคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน คุณแม่ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันอาจมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้มากกว่าคุณแม่ท่านอื่นๆ
นอกจากนี้ยังปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น
- พันธุกรรม
- ปัญหาการเงิน
- ปัญหาครอบครัว ความรัก การหย่าร้าง
- ปัญหาเรื่องงาน การใช้ชีวิต
- ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
- คุณแม่ที่มีปัญหาการให้นมบุตร
- กังวลกับสุขภาพของลูกที่คลอดออกมาแล้วไม่สมบูรณ์
วิธีรับมือกับคุณแม่หลังคลอด
คุณแม่ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ เพราะหากเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคจิตหลังคลอด คุณแม่จะไม่สามารถหายเองได้ คนรอบข้างเช่น สามี พ่อแม่พี่น้อง เครือญาติ และเพื่อนสนิท ควรให้กำลังใจคุณแม่อยู่เสมอ คอยช่วยเหลือ อยู่เคียงข้าง ชมเชยเมื่อคุณแม่ทำได้ดี คอยพูดคุยเพื่อให้คุณแม่ผ่อนคลายความกังวล ให้ความรักและความเอ็นดูกับเด็ก และใจเย็นกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะสามารถช่วยคุณแม่ได้มาก
วิธีป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา หรือสมุนไพรใดๆ ก็ตาม
- หาเวลาพักผ่อนระหว่างวันบ้าง ให้คุณแม่ได้งีบหลับเป็นพักๆ เพื่อการผ่อนคลาย
- หากมีประวัติเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
- หากเริ่มรู้สึกว่าสภาวะทางอารมณ์ไม่ปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาที่ได้ผลรวดเร็วยิ่งขึ้น