5 อาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อรู้สึก “เวียนศีรษะ”

5 อาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อรู้สึก “เวียนศีรษะ”

5 อาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อรู้สึก “เวียนศีรษะ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากรู้สึกเวียนศีรษะ บางทีอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกอาการผิดปกติอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ไม่ได้ทานอาหาร หรือพักผ่อนแต่เพียงอย่างเดียว

Dr. Shamai Grossman รองศาสตราจารย์ แผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ที่ Harvard Medical School กล่าวว่า “อย่าเพิกเฉย แม้ว่าจะมีอาการเวียนศีรษะแค่เล็กน้อยที่ดูไม่น่าจะเป็นอะไรมาก แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากตกจากที่สูง หรือหากแย่ไปกว่านั้น อาจเป็นอาการที่นำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว”

5 อาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อรู้สึก “เวียนศีรษะ”

1. ขาดน้ำ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าหากร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการในการทำงานของระบบต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ เพราะหากคุณขาดน้ำ (รวมไปถึงอาหาร) ระดับเลือดในร่างกายจะลดลง ความดันโลหิตก็จะลดลง ซึ่งนั่นก็จะทำให้สมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยลง จนทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้นั่นเอง ดังนั้นคำแนะนำแรกจึงเป็นการดื่มน้ำ หรือทานอาหารให้เพียงพอ (หากวันนั้นไม่ค่อยได้ดื่มน้ำ หรือทานอาหารเท่าที่ควร) แล้วพักสักครู่จนกว่าร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ หากขาดน้ำมากจริงๆ แพทย์อาจพิจารณาให้สารสะสายอย่าง โพแทสเซียม หรือเกลือเข้าไปในร่างกายได้

2. ผลข้างเคียงจากยา

ยาที่เรากำลังทานอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง อย่างอาการเวียนศีรษะได้ เพราะอาจเป็นยาที่มีปฏิกิริยาที่ทำให้ระดับความดันโลหิตของร่างกายลดลง และยังทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นอีกด้วย และนั่นอาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้นั่นเอง ดังนั้นหากสงสัยว่าเป็นยาที่กำลังทานอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดของยาเพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้

3. ความดันโลหิตลดลงกะทันหัน

ระบบประสาทอิสระหรือระบบประสาทอัตโนวัติ  (autonomic nervous system) ในร่างกายจะทำหน้าที่ปรับระดับความดันโลหิตในร่างกายเมื่อเราปรับเปลี่ยนตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ อย่างกะทันหัน เช่น จากนั่งเป็นลุกขึ้นยืนทันที ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็วชั่วคราวได้ หากระบบประสาทอิสระปรับระดับความดันโลหิตได้ไม่ทัน เราจึงเกิดอาการเวียนศีรษะได้นั่นเอง ในบางรายอาจพบว่ามีอาการเวียนศีรษะทุกครั้งที่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งของร่างกายอย่างรวดเร็วอยู่บ่อยๆ เช่น ทุกครั้งที่ลุกขึ้นจากที่นอนเร็วๆ หรือลุกขึ้นยืนหลังจากลงไปนั่งยองๆ กับพื้น ก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก เป็นต้น วิธีรักษาอาการนี้ อาจเป็นการทานยา มิโดดรีน (ProAmatine) หรือ ฟลูโดรคอร์ติโซน (Florinef) แต่ยาเหล่านี้ต้องได้รับการพิจารณาให้ทานโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อทานได้เอง

4. ระดับน้ำตาลตก

นอกจากผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อาจต้องเผชิญสภาวะระดับน้ำตาลตกแล้ว ในหลายๆ คนที่ทานอาหารหรือเครื่องที่มีน้ำตาลไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย ขาดพลังงาน จนอาจเกิดอาการเวียนศีรษะได้ วิธีแก้ง่ายๆ คือการทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคสที่สามารถดูดซึมได้มนเวลาอันรวดเร็ว เช่น ลูกอม น้ำหวาน ขนมหวานต่างๆ แต่อย่าเผลอทานเยอะเกินไปด้วย

5. โรคหัวใจและหลอดเลือด

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากมีอาการเวียนศีรษะ คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด เพราะโรคเหล่านี้อาจมีสัญญาณเตือนด้วยอาการอย่าง เวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ คลื่นไส้ ปวดตามแขน หลัง และบริเวณกราม หากมีเส้นเลือดตีบ หรืออุดตัน อาจมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หมดเรี่ยวแรง ใบหน้าบิดเบี้ยว เดินลำบาก ไปจนถึงพูดไม่ชัด โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ทำอย่างไร หากรู้สึกเวียนศีรษะ?

หากรู้สึกเวียนศีรษะ ควรดื่มน้ำ หรือน้ำส้มสักแก้ว แล้วนอนราบบนเตียงหรือที่นอนนิ่งๆ อาการเวียนศีรษะจะดีขึ้น แต่หากยังคงมีอาการอยู่นานกว่า 15 นาทีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด และอย่าลืมเล่าอาการที่เกิดขึ้นให้แพทย์ฟังอย่างละเอียดด้วยเช่นกัน เพื่อหาสาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่แท้จริงต่อไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook