4 เคล็ดลับ ป้องกัน “ภาวะซีด” หรือ “โลหิตจาง”
เมื่อความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงน้อยลงผิดปกติ จนไม่สามารถทำให้ร่างกายไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปให้เซลล์ และเนื้อเยื่องต่างๆ ในร่างกายได้ ร่างกายจึงส่งผลผิดปกติหลายอย่าง เช่น เหนื่อยง่าย หน้ามืด ไปจนถึงเป็นลมหมดสติ เราเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะซีด หรือโลหิตจาง
สาเหตุของภาวะซีด หรือโลหิตจาง
- การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ซึ่งเป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่ ธาตุเหล็ก, วิตามินบี 12, กรดโฟลิค
- โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดปัจจัยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
- โรคของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก การติดเชื้อในไขกระดูก เป็นต้น
- โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
- การทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้นในร่างกาย โรคกลุ่มนี้จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวและตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย สาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น
- โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ที่พบบ่อย ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการได้หลากหลาย อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือ มีโลหิตจางรวดเร็วเมื่อเวลามีไข้ บางรายอาจมีภาวะโลหิตจางร่วมกับเหลือง ตับม้ามโต เป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอนไซม์ G-6PD เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบในเพศชาย ในภาวะปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หากมีการติดเชื้อหรือได้รับยาบางชนิด จะเกิดการกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายขึ้นจนเกิดอาการโลหิตจางรวดเร็ว ดีซ่าน ปัสสาวะสีน้ำปลา
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเม็ดเลือดแดง เป็นโรคที่พบมากในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาจพบร่วมกับโรคของระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ
- การติดเชื้อบางชนิด เช่น มาลาเรีย, คลอสติเดียม, มัยโคพลาสมา เป็นต้น
- การเสียเลือด อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด หรืออาจค่อยๆ เสียเลือดเรื้อรัง เช่น เสียเลือดทางประจำเดือนในผู้หญิง เสียเลือดในทางเดินอาหารในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยที่เสียเลือดเรื้อรังก็มักจะมีการขาดธาตุเหล็กตามมาด้วย
จะทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่ามีภาวะซีด หรือโลหิตจาง
หากรู้สึกตัว หรือมีคนทักว่าซีดลง ตัวเหลือง หรือเคยมีปัญหาตรวจเลือดแล้วพบว่าเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ท่านควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากโลหิตจางจริงหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใด โดยทั่วไปแพทย์จะทำการซักถามประวัติอย่างละเอียด รวมถึงตรวจร่างกายเพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่อหาสาเหตุต่อไป
การเข้าตรวจกับแพทย์ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาตรวจ
การป้องกันภาวะซีด หรือโลหิตจาง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่แดง ผัก และผลไม้ เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อ พยาธิปากขอ
- เด็กผู้หญิงที่มีประจำเดือนมากผิดปกติ ควรรับประทานธาตุเหล็กเสริม
- หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเลือดจาง ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง