สัญญาณอันตราย "ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน"
แพทย์แนะประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ลดโอกาสเสี่ยงไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากสาเหตุเกิดจากโรคหวัด ทำให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน เกิดการอักเสบของไซนัสเฉียบพลันได้
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน และโรคจมูกอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ หรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การสัมผัสความเย็นเป็นเวลานาน ระคายเคืองด้วยอากาศแห้งและเย็น รวมถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกิดการอักเสบติดเชื้อของโพรงอากาศในจมูก ซึ่งปกติโพรงไซนัสจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ตำแหน่ง เป็นคู่ๆ ได้แก่ โพรงอากาศบริเวณหน้าผาก โพรงอากาศระหว่างหัวตา โพรงอากาศบริเวณแก้ม และโพรงอากาศบริเวณฐานกะโหลก โดยการอักเสบเกิดขึ้นได้กับไซนัสทุกตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่พบไซนัสอักเสบได้บ่อยที่สุดคือ บริเวณโหนกแก้ม
อาการโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดที่บริเวณใบหน้าเมื่อเกิดการอักเสบ เช่น โหนกแก้ม ระหว่าง หัวตา หน้าผาก รอบกระบอกตา คัดจมูก มีน้ำมูกออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ หายใจมีกลิ่นเหม็น อีกทั้งความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น หรือรสชาติจะลดลงไปด้วย
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
ในส่วนของการรักษาโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ควรพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากถ้ารักษาไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เชื้อลุกลามจนกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนต่อตาได้ สำหรับการรักษาไซนัสอักเสบมีหลายวิธี เช่น
- การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
- ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ ควรใช้ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะ
- ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งควรได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 10-14 วัน เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่ายช่วยให้อาการทางไซนัสดีขึ้น
การป้องกันโรคไซนัสอักเสบ
เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดอาการไซนัสอักเสบ หรือลดอาการรุนแรงที่เกิดขึ้น ควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยออกกำลังกายเป็นประจำแบบไม่ต้องหักโหม เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากร่างกายอ่อนแอจะมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่