เซลฟี่ สาเหตุการตายที่คร่าชีวิตคนอย่างคาดไม่ถึง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเผย เซลฟี่เป็นเหตุให้ผู้คนเสียชีวิตมากขึ้น และจำนวนผู้เสียชีวิตยังมากกว่าถูกฉลามทำร้าย ซึ่งเคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวที่พบมากที่สุดในช่วงหน้าร้อน เป็นเพราะขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง จนทำให้ขาดความระมัดระวังในตนเอง จนเป็นเหตุถึงแก่ความตายในที่สุด
แม้สาเหตุการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวจากการถูกฉลามทำร้ายจะเกิดขึ้นในทุกๆ ปีอยู่แล้ว แต่สำหรับปี 2015 นี้กลับมีจำนวนน้อยกว่าผู้เสียชีวิตจากการ “เซลฟี่” หรือการถือกล้องหรือมือถือเพื่อถ่ายรูปตัวเอง เว็บไซต์ ScienceAlert ของอเมริการะบุว่า ปี 2015 มีผู้เสียชีวิตจากการถูกฉลามทำร้ายขณะเล่นน้ำทะเลทั้งสิ้น 8 ราย แต่ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการเซลฟี่มีถึง 12 รายเลยทีเดียว
ล่าสุดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นวัย 66 ปี ลื่นตกบันไดหน้าประตูหลังพยายามเซลฟี่ระหว่างเที่ยวชมอนุสรณ์สถานทัชมาฮาลที่ประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังเกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตจากการพยายามเซลฟี่อีกมากมาย ทั้งตกจากหน้าผาสูง รถชนขณะเซลฟี่ในรถ ถูกรถไฟชน และเผลอเอาปืนยิงตัวเองจนเสียชีวิต
Stacy Kaiser นักจิตบำบัดชาวอเมริกันเผยกับ Yahoo Health ว่า “เป็นเพราะเวลาเราเซลฟี่ เราจะมุ่งความสนใจไปที่กล้อง รูปของตัวเองในกล้อง ทำให้ขาดความสนใจในสิ่งรอบข้างแทบจะโดยสมบูรณ์ จึงทำให้ขาดความระมัดระวังจนถึงขั้นพลัดตกหน้าผา หรือโดนรถชน”
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า เซลฟี่กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องอินเทรนด์ที่ใครๆ ต้องทำ “หากมองลึกลงไปจะพบว่า การเซลฟี่เป็นการปลุกความหลงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อยากให้คนมอง อยากให้คนสนใจ อยากประกาศให้คนรู้ว่ากำลังทำอะไรที่ไหน และทุกคนต้องอิจฉา ซึ่งตรงกับการวิจัยที่ว่า ยิ่งคุณเป็นคนหลงตัวเองมากเท่าไร คุณยิ่งชอบเซลฟี่มากขึ้นเท่านั้น”
ซึ่งจริงๆ แล้ว ต้นกำเนิดของการอยากเซลฟี่ ส่วนใหญ่มาจากการอยากเป็นคนดังในสังคมนั่นเอง พวกเขามักจะเลือกถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ราวกับถูกตามถ่ายโดยปาปาราซซี่ (เรียกง่ายๆ ว่าช็อตเผลอ แต่จริงๆตั้งใจสุดๆ) เช่น นั่งมองไปนอกหน้าต่างร้านกาแฟ เดินเลือกซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรืออาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบดาราหรือคนดังในสังคม เช่น ถ่ายเซลฟี่ในรถยนต์ เซลฟี่กับกาแฟที่ดาราที่ตัวเองชอบเคยถือ หรือแม้กระทั่งเลียนแบบการแต่งตัวของดาราต่างๆ จึงเกิดเป็นความคิดที่ว่า “ฉันอยากเป็นเธอ ฉันเลยทำตัวเลียนแบบเธอ”
แต่ใช่ว่ากระแสเซลฟี่จะหมดไปจากสังคมง่ายๆ “ฉันคิดว่าค่านิยม หรือเทรนด์ของการเซลฟี่ยังมีทีท่าว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากผู้คนที่เข้าถึงสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียมากขึ้น ผู้สูงอายุก็หัดใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้มากขึ้น และลองเซลฟี่ตามลูกหลานหรือคนที่พบเห็นในโลกอินเตอร์เน็ต เพราะคิดว่านี้คือสิ่งที่ทุกคนทำ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคม และให้สังคมยอมรับในที่สุด”
เรามองว่าการเซลฟี่ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากแต่ “มีสติ ทั้งก่อนและระหว่างเซลฟี่” ทุกครั้ง เท่านี้ก็ไม่เป็นอันตรายแล้วค่ะ