ความจริงเกี่ยวกับสมุนไพร กับ "อันตราย" ที่(อาจ)คาดไม่ถึง!

ความจริงเกี่ยวกับสมุนไพร กับ "อันตราย" ที่(อาจ)คาดไม่ถึง!

ความจริงเกี่ยวกับสมุนไพร กับ "อันตราย" ที่(อาจ)คาดไม่ถึง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     สมุนไพร เป็นพืชที่นำมาใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรค ในบางกรณีชิ้นส่วนของสัตว์ที่นำมาใช้เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน ก็เรียกสมุนไพร เช่น นอแรด เปลือกหอย อวัยวะต่างๆ ของสัตว์ เป็นต้น ในประวัติศาสตร์พบการใช้สมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่างๆ มานานกว่า 6 หมื่นปี, 5 ตำราบันทึกชื่อสมุนไพร และสูตรยาสมุนไพรต่างๆ มีมากว่า 5 พันปี
     ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่สัตว์ก็รู้จักใช้สมุนไพร เช่น นก ไก่ สุนัข แมว ลิง แกะ วัว ควาย ตัวอย่างเช่นสุนัขหากรู้สึกไม่สบายท้อง จะวิ่งไปกินตะไคร้ ซึ่งจะทำให้อาเจียน แล้วอาการมักจะดีขึ้น ในลิงกอริลลาที่อาศัยอยู่ทวีปแอฟริกาตอนใต้ ก็นิยมกินผลไม้ชนิดหนึ่งเป็นตระกูลเดียวกับขิง ทำให้หายแน่นท้อง ฆ่าเชื้อโรค และขับพยาธิ

      ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบประชากรทั่วโลกนิยมใช้สมุนไพร ชาวอาเซียนและแอฟริกาฮิตใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวันถึงร้อยละ 80 เพราะสมุนไพรหาง่าย ไม่แพง บางทีก็ไม่ต้องซื้อหา เชื่อว่าเป็นยาครอบจักรวาล ไม่มีอันตราย ทำให้อายุยืน สำหรับเมืองไทยยอดขายสมุนไพรสูงถึงปีละ 48,000 ล้านบาท

       อันที่จริงร้อยละ 25 ของยาแผนตะวันตก ผลิตมาจากพืช หรือส่วนประกอบของพืช หรือสร้างสารเคมีเลียนแบบโครงสร้างที่สกัดมาจากพืช เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน แอสไพริน ควินิน ดิจิทาลิส (Digitalis) ฯลฯ ดังนั้นสมุนไพรส่วนหนึ่งมีประสิทธิภาพการป้องกันและรักษาโรคได้จริง

แต่ทำไมสมุนไพรส่วนใหญ่จึงไม่ได้บรรจุอยู่ในตำรายาของแพทย์แผนปัจจุบัน?

ขอบคุณภาพประกอบ : http://livingawareness.com/

     การใช้สมุนไพรถือว่าเป็นแพทย์ทางเลือก การรับรองโดย อย. ส่วนหนึ่งรับรองเป็นอาหารเสริม ไม่ใช่ยารักษาโรค เหตุผลเป็นเพราะสมุนไพรที่มีอยู่นับพันชนิดนั้น มีงานวิจัยที่เป็นมาตรฐานที่สนับสนุนการใช้เป็นส่วนน้อย งานวิจัยตีพิมพ์ใน J clin Pharm 35 (1) : 11-48 ค.ศ.2010 พบสมุนไพรที่มีงานวิจัยรองรับเพียงร้อยละ 15.6, ร้อยละ 50 ทดลองในสัตว์ ร้อยละ 12 มีการวิจัยที่ยังยืนยันไม่ได้ ร้อยละ 5 เป็นพิษจนเกิดอันตราย

เนื่องจากแพทย์แผนปัจจุบันมีข้อจำกัดการรักษาพยาบาลในคนไข้โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตับ ไต ปอด มะเร็ง ภูมิแพ้ หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่อยู่ในระยะสุดท้าย คนไข้ที่ไม่มีทางออกจึงมักจะเลือกใช้สมุนไพร

     อย่างไรก็ตาม มีการโกหกหลอกลวง, หลอกให้หลงเชื่อ, เป็นการค้า, ความเข้าใจผิดเอง, หรือความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่นเชื่อว่าสมุนไพร หรือสูตรสมุนไพรบางชนิดสามารถป้องกันและรักษามะเร็งได้ ในปี ค.ศ.2013 องค์การวิจัยมะเร็งของประเทศอังกฤษ (Cancer research UK) ประกาศ ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาว่ามีสูตรสมุนไพรที่สามารถรักษาและป้องกันโรคมะเร็งได้

     รูปแบบของสมุนไพรมีหลายรูปแบบ เช่น ชงเป็นชาสดๆ ชาแห้งอยู่ในรูปผงชงละลายน้ำ เป็นสารสกัด หมักเหล้า ไวน์ แอลกอฮอล์ต่างๆ แช่น้ำตาล แช่น้ำผึ้ง อัดเม็ด แคปซูล ฯลฯ ดังนั้นในบางกรณีก็จะได้รับสารที่มาพร้อมสมุนไพร เช่น สารที่ปะปนมา น้ำตาล และแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ ด้วย

อันตรายจากสมุนไพร

    1.พิษจากสารเคมีในสมุนไพร สมุนไพรแม้มาจากพืช ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดอันตราย พืชบางอย่างแม้มีประโยชน์แต่ก็มีพิษ เช่นลำโพง (Datura stramonium) ช่วยลดอาการหอบหืดเพราะทำให้หลอดลมขยาย แต่ทำให้ประสาทหลอนอย่างรุนแรง อุณหภูมิร่างกายสูงจนอาจเสียชีวิตได้ สมุนไพรหลายชนิดมีพิษต่อหัวใจ ไต ตับ และก่อมะเร็ง เช่นผักขี้เหล็ก มีรายงานตับวายจนเสียชีวิต ไคร้เครือซึ่งผสมอยู่ในยาหอมและยาธาตุก่อมะเร็งท่อไตและเชิงกราน บอระเพ็ดอาจมีพิษต่อตับ แบล็คโคฮอช (Black cohosh) ที่นิยมทั่วโลกใช้รักษาอาการวัยทอง อาจทำให้เป็นโรคหัวใจ มะเร็ง ตับวาย เป็นต้น

   2.พิษจากขั้นตอนการเตรียม เช่น บด ตำ ใส่แคปซูลอาจไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน หากปนเปื้อนเชื้อรา ซึ่งมีสารอะฟลาทอกซินก็จะเสี่ยงต่อมะเร็งตับ

   3.พิษจากสารสกัด หรือสารทำละลาย หรือสารแช่ เช่น ทำให้มีน้ำตาลสูงอันตรายต่อคนที่เป็นโรคเบาหวาน มีเกลือแร่เข้มข้นเป็นพิษต่อตับไต หรือมีแอลกอฮอล์ซึ่งอาจมีอันตรายต่อคนตั้งครรภ์, เด็ก, ทารกที่ได้รับนมแม่ ฯลฯ

   4.พิษจากไฟโตเอสโตรเจน เช่น ตังกุย โกศเชียง กาวเครือ ชะเอมเทศ ฯลฯ มีฤทธิ์ฮอร์โมนเพศหญิง มีทั้งชนิดเดี่ยวหรือนิยมนำไปผสมสมุนไพรอื่นๆ ทำให้ผิวพรรณดี กินข้าวได้ แก้อาการหงุดหงิด ปวดเมื่อย นอนไม่หลับ อาการวัยทอง 
     แต่มีข้อห้ามอาจเกิดอันตรายในคนเป็นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็น...มะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก, โรคหลอดเลือดอุดตันที่หัวใจ ที่สมอง ที่หลอดเลือดดำ, โรคตับอักเสบ ตับแข็ง, โรคเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์, โรคซีสต์รังไข่ เนื้องอกรังไข่, โรคลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง, โรคไมเกรน ปวดศีรษะรุนแรง, โรคภูมิแพ้ร่างกาย ภูมิแพ้เอสแอลอี, หลอดเลือดอุดตันที่หัวใจ หรือในสมอง นอกจากนั้นยังอาจเกิดอันตรายในเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ

    5.พิษจากการรับประทานเกินขนาด เนื่องจากสมุนไพรไม่มี ขนาดบอกชัดเจน การเตรียมก็มีจำนวนสมุนไพรต่างกัน บางคนอยากหายเร็วๆ ก็อาจรับประทานมากจนเกิดอันตราย

    6.พิษจากคำโฆษณา สมุนไพรส่วนหนึ่งขายตรง บอกสรรพคุณเป็นของวิเศษ รักษาโรคครอบจักรวาล ทำให้หลงเชื่อ เสียเงินทอง ทั้งเกิดอันตรายต่อคนกิน ที่มีข้อห้าม หรือมีโรคประจำตัวอยู่

    7.พิษจากยาตีกัน
สมุนไพรจำนวนมากมีปฏิกิริยาเสริมฤทธิ์หรือลดฤทธิ์ยาแผนปัจจุบัน ที่เสริมฤทธิ์เช่นแป๊ะก๊วย, โสม หากกินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin แอสไพริน ฯลฯ อาจทำให้เลือดออกในสมอง ในตา ในอวัยวะอื่นๆ จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ที่ลดฤทธิ์เช่นน้ำองุ่นสกัด, เซนต์จอห์นเวิร์ต (St.John wart) ลดระดับยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น

    8.พิษจากการผสมสารอันตราย เช่นสารสเตียรอยด์, ยาแก้ปวด, สารเคมีบำบัด ฯลฯ ต้องระวังให้มาก งานวิจัยพบว่าสมุนไพรร้อยละ 60 มีส่วนผสมไม่ตรงตามฉลาก ร้อยละ 10 ไม่มีสารที่ระบุในฉลาก

คําแนะนำการเลือกใช้สมุนไพรให้เกิดประโยชน์ มีดังนี้ค่ะ

1.ต้องรู้จักรู้ข้อดี ข้อเสีย ข้อห้าม กลไกการออกฤทธิ์ของสมุนไพร หากไม่ทราบไม่ควรรับประทาน

2.ไม่ควรให้เด็กและสตรีมีครรภ์รับประทาน คนทั่วไปควรปรึกษาผู้รู้เช่นแพทย์แผนไทยก่อน

3.หากมีราคาแพง โฆษณาว่าป้องกันและรักษามะเร็ง ให้สันนิษฐานว่าเป็นการชวนเชื่อเพื่อการค้า

4.ต้องใช้สมุนไพรจำนวนน้อยสุด ระยะเวลาสั้นที่สุด ไม่ควรรับประทานสมุนไพรที่เข้าแอลกอฮอล์

5.หากมีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว ตกเลือด ต้องหยุดรับประทานทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook