ผ่าตัด "ต่อมทอนซิล" มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
มีไข้หนาวสั่น เจ็บคออย่างรุนแรง กินอาหารและน้ำลำบาก จะกลืนน้ำลายยังแทบทำไม่ได้ ถือเป็นอาการของภาวะทอนซิลอักเสบที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นอย่างยิ่ง บางคนที่ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อยๆ จึงตัดสินใจตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลทิ้ง แต่ก่อนจะตัดสินใจเช่นนั้น มาทำความรู้จักกับการ ผ่าตัดต่อมทอนซิล เสียก่อน
การผ่าตัดต่อมทอนซิลคืออะไร
การผ่าตัดต่อมทอนซิล คือการผ่าเอาต่อมทอนซิลออก เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับต่อมทอนซิล เช่น มีแนวโน้มเป็นมะเร็งต่อมทอนซิล ต่อมทอนซิลโตจนนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจ ทอนซิลอักเสบ ต่อมทอนซิลเป็นกลุ่มของเนื่อเยื่อน้ำเหลืองที่อยู่ในคอ มีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคและป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อ แต่บางครั้งก็สามารถสร้างปัญหาสุขภาพให้กับเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็ก บางคนที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับต่อมทอนซิล เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นประจำ ทำให้มีอาการเจ็บคอ หายใจและกลืนลำบาก รวมไปถึงหูติดเชื้ออยู่บ่อยๆ รักษาด้วยยาแล้วไม่หาย จึงเลือกรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล ซึ่งถือเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่ต่างจากวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆ
ผ่าตัดต่อมทอนซิลแล้ว ดีอย่างไร?
ข้อดีที่เด่นชัดของการผ่าตัดต่อมทอนซิลก็คือ ช่วยขจัดอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเพราะปัญหาเกี่ยวกับต่อมทอนซิล ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ภาวะทอนซิลอักเสบ ยกตัวอย่างผู้ป่วยในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แพทย์วินิจฉัยว่าควรผ่าตัดต่อมทอนซิล ส่วนใหญ่เคยมีอาการทอนซิลอักเสบ หรือเจ็บคอมากกว่าปีละ 4 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการกินอาหารอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้กินอาหารและดื่มน้ำลำบากแล้ว ร่างกายยังต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค จนเป็นเหตุให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่สบายตัว การผ่าตัดต่อมทอนซิลจึงช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และส่วนใหญ่มีปัญหาคอติดเชื้อน้อยลง
ความเสี่ยงที่ต้องรู้ ก่อนคิดผ่าตัดต่อมทอนซิล
แม้การผ่าตัดต่อมทอนซิลจะมีข้อดี ช่วยให้คุณไม่ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับต่อมทอนซิล แต่ก็มีความเสี่ยง ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนจากยาสลบ
การผ่าตัดต่อมทอนซิลส่วนใหญ่ต้องมีการระงับความรู้สึกด้วยการให้ดมยาสลบก่อนลงมือผ่าตัด ซึ่งร่างกายแต่ละคนนั้นตอบสนองต่อยาสลบต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงระยะสั้น เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ ฟื้นมาแล้วเพ้อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเพราะยาสลบรุนแรงขึ้นได้
อาการบวม
หลังผ่าตัดต่อมทอนซิล เพดานอ่อนและผนังคอจะบวมมาก ทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีปัญหาหายใจลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2-3 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด
อาการเลือดออก
ผู้เข้ารับการผ่าตัดบางรายอาจมีอาการเลือดออกรุนแรงระหว่างผ่าตัด จนเลือดไหลเข้าไปในปอดทำให้ปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) ทั้งยังเสี่ยงเลือดออกระหว่างพักฟื้นเนื่องจากแผลปริ ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานขึ้น
การติดเชื้อหลังผ่าตัด
ผู้เข้ารับการผ่าตัดมักมีการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณที่ผ่าตัดต่อมทอนซิลออกไป จึงอาจทำให้มีไข้อ่อนๆ และต้องรักษาตัวนานขึ้น บางรายอาจติดเชื้อรุนแรงได้ด้วย
ต้องพักฟื้นนาน
การผ่าตัดต่อมทอนซิลต้องใช้เวลานานกว่าร่างกายจะฟื้นตัว ผู้เข้ารับการผ่าตัดส่วนใหญ่มักปวดกราม หู หรือเจ็บคอ ซึ่งบางรายอาจมีอาการรุนแรงนานถึง 2 อาทิตย์หลังผ่าตัด