“ซาวน่า” มีประโยชน์ หรือให้โทษต่อร่างกายกันแน่?
หลังออกกำลังกายที่ฟิตเนส หลายคนอาจจะเคยใช้บริการซาวน่าก่อนอาบน้ำ ห้องซาวน่าจะเป็นห้องที่บุรอบๆ ด้วยไม้ มีหินร้อนๆ ที่ทำให้อุณหภูมิในห้องร้อนระอุ เราเข้าไปนั่งในห้องซาวน่าจนรู้สึกผิวหนังร้อน จากนั้นก็ออกมาอาบน้ำ เหงื่อที่ไหลออกมาขณะซาวน่าทำให้ใครหลายคนรู้สึกสบายตัว แต่จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของซาวน่าคืออะไร มีประโยชน์จริง หรือมีอันตรายหรือไม่ มาหาคำตอบกัน
ประโยชน์ของซาวน่า
ตามปกติแล้วในห้องซาวน่าที่วางหินร้อนๆ เอาไว้ จะทำให้อุณหภูมิในห้องโดยรวมอยู่ที่ราวๆ 32-45 องศาเซลเซียส ทำให้คนที่เข้าไปในห้องซาวน่าสามารถเหงื่อออกได้ทันทีที่เปิดประตูเข้าไป และอาจไม่ทันรู้ตัวว่าเหงื่อออก เพราะอากาศที่ร้อน และแห้งในห้องซาวน่าเรียกเหงื่อผ่านผิวหนังออกมา และแห้งไปกับอากาศภายในห้องแทบจะทันที อุณหภูมิบนผิวหนังจะร้อนอยู่ที่ราวๆ 37-40 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิบนผิวที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่เราพอสังเกต หรือรู้สึกได้ แต่สิ่งที่เราอาจไม่ทันรู้สึกตัว คือ การเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้นราว 30% หัวใจสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายมากขึ้น รวมถึงผิวหนังที่แดงขึ้นจากการสูบฉีดของเลือดที่มากขึ้น หัวใจจะยังทำงานหนักไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะออกมาจากห้องซาวน่า เมื่อร่างกายสัมผัสกับอุณหภูมินอกห้องที่เย็นขึ้น
ซาวน่า ปลอดภัยหรือไม่?
ซาวน่าเป็นบริการที่ขึ้นชื่อในเมืองหนาวอย่างฟินแลนด์ ดังนั้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับซาวน่าส่วนใหญ่มาจากฟินแลนด์ นักวิจัยทำสำรวจร่างกายของผู้ที่เป็นโรคหัวใจในเมืองเฮลซิงกิจำนวณ 1,631 คน หลังจากเข้ารับบริการซาวน่า ในช่วงเวลา 16 เดือน พบว่ามีเพียง 1.8% เท่านั้นที่มีอาการโรคหัวใจกำเริบขณะใช้บริการซาวน่าเป็นเวลา 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ในการทดลองที่แคนาดา ให้ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวณ 16 คนใช้บริการซาวน่า 15 นาทีแล้วมาทดสอบหัวใจด้วยการวิ่งบนลู่วิ่ง พบว่าไม่มีผู้ป่วยรายได้ที่มีอาการของโรคหัวใจกำเริบ
ซาวน่ามีความปลอดภัยต่อคนทั่วไปที่สุขภาพดี รวมถึงผู้ป่วยที่ดูเหมือนจะมีความเสี่ยง (แต่ไม่มี) อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจ (ที่มีอาการอยู่ในระดับที่คงที่) งานวิจัยจากญี่ปุ่นยังยืนยันอีกว่า การใช้บริการซาวน่าเป็นประจำ ยังช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดดีขึ้นในผู้ป่วยที่หัวใจมีปัญหาการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหัวใจยังคงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับบริการซาวน่า เพื่อศึกษาความเสี่ยง หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละบุคคลที่อาจมีสุขภาพที่แตกต่างกันไป
ซาวน่ายังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ลดอาการคันยุบยิบในผู้ป่วยที่มีอาการคันผิวหนังได้ (ความร้อนจากห้องซาวน่าไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง และปอด) และสำหรับประโยชน์จากการไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น ในบางรายอาจทำให้รู้สึกผิวสุขภาพดีขึ้นตามมาด้วย
ใช้บริการซาวน่าอย่างไรให้ปลอดภัย?
- ใช้บริการซาวน่าในช่วงที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่อยู่ในสภาวะอ่อนเพลีย ขาดอาหาร มีไข้ เป็นหวัด และอื่นๆ (หากมีโรคประจำตัว ควรอยู่ในระดับอาการคงที่ ควบคุมได้ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ)
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนใช้บริการซาวน่า
- ออกกำลังกายก่อนเข้าบริการซาวน่า โดยอาจจะเดินหรือวิ่ง 30 นาที เดินหรือวิ่งขึ้นลงบันได 3-4 ครั้งโดยไม่หยุด ให้หัวใจได้ออกกำลังเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป
- ระมัดระวังไม่ปรับอุณหภูมิของห้องซาวน่าสูงจนเกินไป ให้อยู่ในระดับที่ร้อน แต่พอทนไหว
- สามารถใช้เวลาในห้องซาวน่าได้ตั้งแต่ 5-20 นาที แต่หากรู้สึกหน้ามืด ตาลาย จะเป็นลม ควรรีบออกมาก่อน
- นั่งอยู่ด้านนอกห้องซาวน่าจนกว่าผิวหนัง และร่างกายโดยรวมปรับให้เข้ากับอากาศภายนอกห้องซาวน่าได้ก่อน แล้วค่อยเข้าไปอาบน้ำ
- จิบน้ำช้าๆ 2-4 แก้วหลังเข้ารับบริการซาวน่า เพื่อทดแทนเหงื่อที่เสียไป