โรคชิคุนกุนยา โรคร้ายจากยุงลาย มีอาการอย่างไร พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน
โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya หรือ Chikungunya fever) หรือที่รู้จักกันในชื่อทั่วไปว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (ชื่อย่อ CHIK V) เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูล Togaviridae มีแมลงเป็นพาหะนำโรค มีรังโรค ได้แก่ หนู , ลิง , นก หรืออาจเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังประเภทอื่นๆ ซึ่งยังไม่รู้แน่ชัดว่ามีสัตว์อะไรบ้าง แต่ในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงมีรังโรค คือ คน
เมื่อแมลงเป็นพาหะนำโรคชิคุนกุนยา
แมลงที่ว่านี้หมายถึง ยุงลาย ที่เป็นพาหะนำโรคเดียวกันกับ โรคไข้เลือดออก หรือ โรคเดงกี (Hemorrhagic fever หรือ Dengue fever) เมื่อมีอาการรุนแรงจะเรียกว่า Dengue hemorrhagic fever หรือ โรคไข้ซิกา โดยยุงลายที่เป็นพาหะนี้เป็น ยุงลายบ้าน Aedes aegypti และ ยุงลายสวน Aedes albopictus skuse เนื่องจากโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลายเกิดจากยุงชนิดเดียวกัน จึงสามารถพบทั้ง 2 โรคได้พร้อมๆ กัน อีกทั้งอาการที่แสดงออกยังคล้ายกันอีกด้วย เพียงแต่โรคไข้เลือดออกจะร้ายแรงกว่ามาก แพทย์เมื่อทำการวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงไม่ได้ระบุไปว่าเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้สาเหตุของการเกิดโรคชิคุนกุนยายังไม่แน่ชัด
คำว่า ชิคุนกุนยา มาจากภาษาถิ่นของแอฟริกา หมายถึง อาการบิดเบี้ยวที่เกิดกับข้อ เพราะเมื่อเกิดโรคดังกล่าวแล้วจะทำให้มีอาการข้อบวมและข้ออักเสบจนเกิดการผิดรูป ซึ่งจากรายงานของโรคครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1952 - 1953 ในประเทศทานซาเนีย ระบุว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลายสามารถพบได้ทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา , ยุโรป หรืออเมริกา แต่พบได้บ่อยที่สุดก็คงจะเป็น เอเชีย พบมากในประเทศอินเดีย ส่วนประเทศไทยนั้นมีการพบโรคชิคุนกุนยาเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2501 ปัจจุบันพบโรคนี้ได้ทุกภาคและเกิดการระบาดอยู่หลายครั้ง จนมา พ.ศ. 2551 - 2552 เกิดการระบาดในภาคใต้ พบโรคได้ในทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย ส่วนทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาก็มีโอกาสติดเชื้อเช่นกัน แต่พบได้น้อย
การติดต่อของโรคชิคุนกุนยา
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย จัดเป็นประเภทโรคติดต่อและสามารถเกิดการระบาดได้เสมอ มีวงจรของโรคที่เรียกว่า "คน-ยุง-คน" คือ ยุงลายจะกัดและดูดเลือดคนที่มีไข้ หรือเป็นโรค ในช่วงนี้เองไวรัสจะเข้าสู่ยุงและและแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายของยุง จากนั้นเมื่อยุงไปกัดคน ไวรัสจากยุงจะเข้าสู่กระแสเลือด เกิดการติดโรค วนเวียนเป็นวงจรการติดต่อและการระบาด ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มีการระบาดนั้น ยุงอาจได้เชื้อจากคน หรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค แล้วก็เกิดเป็นวงจรระบาดเมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคน กลายเป็น "คน-ยุง-คน"
ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคทั้งสองสายพันธุ์ เป็นยุงที่พบได้ทั่วไปทั้งในเมืองและต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวน เป็นยุงที่ออกหากินตอนกลางวัน มีลายขาวดำตามลำตัวและขา มักวางไข่ไว้ในน้ำสะอาด อย่าง น้ำฝน ซึ่งขังอยู่ในกระถางต้นไม้ โอ่งเก็บน้ำ หรืออ่างน้ำ จากนั้นไข่ก็จะกลายเป็นตัวยุงภายใน 7 - 10 วัน ชอบเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้าน ใกล้ๆ บ้าน ในโรงเรียน หรือสถานที่ที่มีแสงแดดน้อย ในร่มเงา หรือในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น
อาการของโรคชิคุนกุนยา
ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลายจะมีอาการเฉียบพลันภายหลังที่ได้รับเชื้อชิคุนกุนยาประมาณ 1 - 12 วัน หรือ 2 - 5 วัน มีอาการดังนี้
- มีไข้สูง บางรายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ในบางรายก็อาจมีไข้ต่ำ
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดบริเวณข้อเป็นอย่างมาก ค่อยๆ ปวดเพิ่มไปทีละข้อ โดยเป็นข้อเล็กๆ ทั้งด้านซ้าย และด้านขวา
- มีผื่นแดงขึ้นคล้ายกับโรคไข้เลือดออกที่บริเวณลำตัว แต่บางกรณีก็สามารถพบได้ที่แขน ขาด้วยเช่นกัน
- มีอาการปวดหัว ปวดตา ตาแดง ตาไม่สู้แสงเล็กน้อย รวมไปถึงมีอาการอ่อนเพลีย
โดยปกติจะมีไข้ประมาณ 2 วัน จากนั้นไข้จะลดลงทันที แต่อาการอื่นๆ อย่าง อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ ยังคงอยู่อีกประมาณ 5 - 7 วัน บางรายอาจมีอาการปวดนานเป็นเดือน เป็นปี หรือปวดต่อเนื่องไปหลายปี
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคไข้ปวดข้อยุงลายจากประวัติการตรวจร่างกายและอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ให้ผลแน่ชัด คือ การตรวจไวรัสจากเลือด หรือการตรวจสารภูมิต้านทานโรคนี้จากเลือด หรือ การตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR) ซึ่งการตรวจแต่ละประเภทจะให้ผลได้ภายใน 1 - 2 วัน ถึง 1 - 2 สัปดาห์ ส่วนแพทย์จะพิจารณาให้ตรวจด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการแต่ละสถานพยาบาล รวมไปถึงดุลพินิจของแพทย์
โรคชิคุนกุนยารักษาได้อย่างไร ?
ทุกวันนี้ในทางการแพทย์ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าไวรัสชนิดนี้ได้ ฉะนั้นแนวทางในการรักษาจึงต้องเป็นไปตามอาการ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดไข้ ยาแก้ปวด และแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เต็มที่ อีกทั้งยังมีรายงานถึงตัวยาบางชนิดที่ใช้รักษา โรคมาลาเรีย (โรคไข้จับสั่น) ที่อาจช่วยรักษาอาการอักเสบของข้อได้ แต่แพทย์จะไม่แนะนำยาแก้ปวดในกลุ่ม เอนเสดส์ (NSAIDs,Non-steroidal anti-inflam matory drugs) อย่าง แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน (Ibruprofen) เพราะยาในกลุ่มนี้จะเพิ่มโอกาสให้เลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ได้ ยาแก้ปวดที่แนะนำ คือ พาราเซตามอล (Paracetamol)
ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ?
หากมีไข้สูง ร่วมกับเกิดผื่นแดงที่ผิวหนัง ให้รีบเดินทางไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่องภายใน 1 - 3 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการเพื่อแยกออกจากโรคไข้เลือดออก นอกนั้นก็ให้หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์
จะป้องกันโรคชิคุนกุนยา ได้อย่างไร ?
- ป้องกันไม่ให้ยุงกัด อาทิ ในถิ่นที่มีการระบาดของยุงลาย ให้ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายากันยุง ใช้ยาไล่ยุง หรือกางมุ้งให้กับเด็กๆ ที่นอนในบ้านถึงแม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตาม
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยต้องร่วมมือกันระหว่างคนในครอบครัวกับชุมชน อีกทั้งยังต้องทำอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มความเข้มข้นเมื่อเข้าสู่หน้าฝนไปจนถึงหลังฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ยุงวางไข่ ตามข้อปฏิบัติของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และกระทรวงสาธารณสุข อาทิ กำจัด หรือคว่ำภาชนะทุกชนิดที่น้ำสามารถขังได้ ไม่ว่าจะในบ้าน นอกบ้าน และบริเวณใกล้บ้าน หมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ หรือกระถางทุกวัน 7 วันเพื่อกำจัดลูกน้ำ ไม่รดน้ำต้นมากเกินจนทำให้เกิดน้ำขัง พยายามจัดสวน หรือปลูกต้นไม้ให้โปร่ง แสงแดดเข้าถึง ส่วนภาชนะที่เอาไว้กักเก็บน้ำบริโภคก็ต้องมีฝาปิดที่มิดชิด จะได้ป้องกันยุงมาวางไข่