“ไวรัสลงกระเพาะ” อาการคล้ายหวัด แต่อันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบรักษา
“ไวรัสลงกระเพาะ” โรคที่มีอาการคล้ายหวัด แต่อันตรายกว่ามาก หากไม่รีบรักษาให้หายโดยเร็ว อาจอันตรายจนถึงชีวิตได้
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “ไวรัสลงกระเพาะ” กันมาบ้าง อาจจะคิดว่าโรคนี้เกี่ยวกับอาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือระบบทางเดินอาหารจนทำให้ป่วย แต่จริงๆ แล้ว อาการไวรัสลงกระเพาะ มีลักษณะคล้ายหวัดมากกว่า แต่อันตรายกว่าหวัดปกติเยอะ
“ไวรัสลงกระเพาะ” คืออะไร?
อาการของไวรัสลงกระเพาะอาหาร เป็นภาวะที่กระเพาะอาหาร (อาจรวมไปถึงลำไส้) ติดเชื้อไวรัส (อาจเป็นเชื้อไวรัสโรต้า หรือเชื้อไวรัสชนิดอื่นก็ได้) โดยอาจมาจากอาหาร และน้ำดื่มที่รับประทานเข้าไปมีเชื้อไวรัสปนเปื้อน สัมผัส หรือจับต้องกับสิ่งของที่มีการปนเปื้อนอุจจาระ น้ำลาย อาเจียนของผู้ป่วย หรืออยู่ใกล้คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้เองโดยตรง
สาเหตุของอาการไวรัสลงกระเพาะ
- ทานอาหาร ดื่มน้ำ ที่มีไวรัสปนเปื้อน
- ทานอาหารจากจาน ชาม ช้อนส้อมที่ไม่สะอาดพอ
- สัมผัสกับสิ่งของรอบตัวที่มีเชื้อไวรัส
- คลุกคลีกับผู้ป่วย
อาการของไวรัสลงกระเพาะ
- ปวดท้อง
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้ หนาวสั่น
- ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
ไวรัสลงกระเพาะ อันตรายที่ควรรีบรักษา
โดยปกติแล้ว ในร่างกายของเรามีกระบวนการที่จะกำจัดเชื้อไวรัสออกไปได้เองจากภูมิต้านทานโรคที่เรามีอยู่ แต่ในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ ในคนชรา หรือในเด็กเล็ก อาจอันตรายกว่าเดิม เพราะอาการของโรคที่เกิดขึ้นอาจรุนแรง จนช็อก หรือเสียชีวิตได้
ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก อันตรายกว่าในวัยอื่น
เด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 3 ขวบมีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นไวรัสลงกระเพาะได้ เพราะจะยังมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าเด็กที่โตแล้ว และยังไม่ระมัดระวังในการหยิบจับอาหารเข้าปากเหมือนผู้ใหญ่ จึงทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย และอาจเสี่ยงมีอาการหนักกว่าผู้ใหญ่ด้วย
โดยอาการไวรัสลงกระเพาะที่สังเกตได้จากเด็กเล็ก คือ
- อาเจียนนานหลายชั่วโมง
- ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง
- อุจจาระเหลว หรือมีเลือดปน
- กระหม่อมบุ๋ม ตาโหล
- ปากแห้ง หรือร้องไห้ไม่มีน้ำตา
- นอนมาก ซึมลง ไม่ตอบสนอง หรือกระสับกระส่ายผิดปกติ
การรักษาอาการไวรัสลงกระเพาะ
เนื่องด้วยโรคนี้ไม่มีวิธีรักษาให้หายได้โดยตรง สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการรักษาไปตามอาการของโรคแบบประคับประคอง (คล้ายกับการรักษาโรคหวัด) เมื่อไรที่ร่างกายค่อยๆ แข็งแรง ก็จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้เอง โดยผู้ป่วยสามารถกลับบ้านไปดูแลตัวเองได้ ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มากๆ โดยเฉพาะหลังอาเจียน หรือหลังถ่าย
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ เพราะอาจทำให้ถ่ายท้องหนักกว่าเดิม
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด
- เด็กเล็กสามารถดื่มน้ำดื่มนมได้ตามปกติ แต่หากถ่ายท้องมากๆ ควรหลีกเลี่ยงนมที่ไม่มีแลคโตส เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ หรือนมสูตรไม่มีแลคโตส
- สามารถดื่มน้ำเกลือเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำจากการถ่ายได้
- ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับคำวินิจฉัย และการดูแลรักษาตัวเองจากแพทย์ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
- ระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วย อย่าให้ผู้ดูแลต้องติดเชื้อไวรัสไปด้วย
การป้องกันอาการไวรัสลงกระเพาะ
- ระมัดระวังในการสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้ สิ่งของสาธารณะ ไม่หยิบจับอาหารเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ
- ล้างมือทุกครั้งที่กลับมาจากข้างนอก ล้างทั้งฝ่ามือ นิ้วมือ เล็บ และใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาทีก่อนล้างด้วยน้ำเปล่า (>>7 ขั้นตอนล้างมือให้สะอาด ลดความเสี่ยงท้องร่วง)
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกเต็มที่
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือใช้น้ำที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเวลาเดินทาง หากสะดวก ควรพกน้ำไปเอง หากต้องไปในที่ที่มีความเสี่ยงว่าสุขอนามัยจะไม่ดี
- หมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์ทานอาหาร โต๊ะ เก้าอี้ อย่างสม่ำเสมอ
- ทำความสะอาดห้องน้ำ โถสุขภัณฑ์ อ่างล่างหน้า ในห้องน้ำอยู่เสมอ