"น้ำในหูไม่เท่ากัน" ลดการ "กินเค็ม" อาจช่วยได้
น้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่ใช่โรคที่ควรมองข้าม เพราะอาการของโรค เช่น เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน หูอื้อ ฟังไม่ค่อยได้ยิน ล้วนแล้วแต่สร้างปัญหาในการใช้ชีวิตให้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ทั้งสิ้น แต่รู้หรือไม่ว่า เพียงแค่คุณใส่ใจในการกิน โดยกินเค็มให้น้อยลง เพื่อลดปริมาณโซเดียมในร่างกาย อาการน้ำในหูไม่เท่ากันก็สามารถดีขึ้นได้
โรคน้ำในหูไม่เท่ากันคืออะไร
โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เนื่องจากของเหลวภายในหูชั้นใน ที่คอยกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกมีปริมาณมากเกินไป หรือเกิดสภาวะบวมคั่งอยู่ภายในหูชั้นใน จนปิดกั้นอวัยวะสำคัญที่คอยทำหน้าที่ควบคุมระบบการทรงตัวและการได้ยิน ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการทรงตัวและการได้ยิน โดยอาจมีอาการดังนี้
อาการหลัก
- เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน (Vertigo)
- มีเสียงอื้อในหู (Tinnitus)
- ได้ยินไม่ค่อยชัด
- รู้สึกแน่นในหูแบบเป็นๆ หายๆ
อาการร่วม
- วิตกกังวล
- ตาเบลอ
- คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย
- ตัวสั่น
- มีเหงื่อเย็น และหัวใจเต้นเร็ว
ผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 20-50 ปี โดยเริ่มแรกจะมีอาการที่หูเพียงข้างเดียว อาการแต่ละครั้งจะยาวนานตั้งแต่ 20 นาที ถึง 4 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการจะค่อยๆ แย่ลง จนอาจถึงขั้นมีเสียงอื้อในหู หรือสูญเสียการได้ยินถาวร
การกินเค็มกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
แม้การกินเค็มจะไม่ใช่สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่หากคุณกำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่ การกินอาหารรสเค็มจัด ร่างกายคุณจะได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไป จนอาจทำให้อาการโรคน้ำในหูไม่เท่ากันของคุณแย่ลงได้ เนื่องจากโซเดียมทำให้เกิดสภาวะบวมคั่งของของเหลวในหูชั้นใน ซึ่งเกี่ยวข้องระบบการทรงตัวและการได้ยิน เมื่อปริมาณของเหลวดังกล่าวเสียสมดุล จะเกิดแรงดันภายในหู ซึ่งเป็นอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั่นเอง
ลดเค็ม...ลดอาการโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
การลดปริมาณโซเดียมในอาหาร หรือกินเค็มให้น้อยลงสามารถช่วยลดแรงดันในหูชั้นใน ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คุณควรลดการบริโภคโซเดียมให้เหลือไม่เกินวันละ 1,500 -2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือประมาณ ¾ ช้อนชา (4 กรัม) โดยทำตามวิธีดังนี้
- ก่อนซื้ออาหาร ควรสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหาร และมองหาคำว่า “โซเดียมต่ำ” “ไร้โซเดียม” “ไม่เติมเกลือ” “ไม่มีเกลือเพิ่ม” เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำผลไม้เข้มข้น อาหารหมักดอง
- หากทำอาหารกินเอง ควรลดหรืองดใส่เครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ ผงปรุงรส ผงชูรส น้ำปลา ซอสปรุงรส
- ไม่วางกระปุกเกลือไว้บนโต๊ะอาหาร เพื่อลดโอกาสที่คุณจะเติมเกลือในอาหารก่อนกิน
- หากกินอาหารนอกบ้าน ควรแจ้งร้านอาหารให้ลดหรืองดใส่เครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ผงชูรส
- หากต้องกินยาลดกรด ควรเลือกยี่ห้อที่ไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
นอกจากลดเค็มแล้ว การกินอาหารและน้ำในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวัน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาระดับของเหลวในหูชั้นใน และช่วยไม่ให้อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันของคุณแย่ลง