PM 2.5 คืออะไร อันตรายแค่ไหน และป้องกันได้อย่างไร

PM 2.5 คืออะไร อันตรายแค่ไหน และป้องกันได้อย่างไร

PM 2.5 คืออะไร อันตรายแค่ไหน และป้องกันได้อย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“หมอกจางๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้” ตามที่เพลงของพี่เบิร์ดบอก ที่เห็นว่าเป็นหมอก จริงๆ แล้วตอนนี้ที่ชาวกรุงเทพ และจังหวัดข้างเคียงได้เห็น คือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว เล็กขนาดที่เล็กกว่าแกนกลางของเส้นผมถึง 20 เท่า จนทำให้เราหายใจเอาฝุ่นละอองพวกนี้เข้าปอดไปได้อย่างง่ายๆ เจ้าฝุ่นละอองพวกนี้มาจากไหน? แล้วหากเราหายใจเอาฝุ่นละอองเล็กๆ เหล่านี้เข้าปอดมากๆ จะอันตรายขนาดไหน?

ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร

ผศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน หน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สภาพอากาศที่เกิดขึ้นในกรุงเทพและปริมณฑลนี้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การเผาป่า การเผาขยะ  การเผาให้ที่โล่ง การเพิ่มพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ แม้แต่การประกอบอาหารที่ใช้เตาถ่านก็ทำให้ฝุ่นละอองเหล่านี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศในปีนี้ค่อนข้างนิ่ง จึงทำให้ฝุ่นอยู่ในที่แคบๆ ไม่มีการไหลเวียนระบายไปที่อื่น จึงทำให้ค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานในปีนี้เกิดขึ้นเร็วและอยู่กับเรานานกว่าปีก่อนๆ

อันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5

เนื่องจาก PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม (50-70 ไมครอน) หรืออนุภาคเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 เท่า และการที่มันเล็กมากทำให้เรามีโอกาสที่จะหายใจเอาฝุ่นละอองนี้ไปเข้าไปสู่หลอดลมได้ จนอาจเป็นสาเหตุ หรือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคอันตรายในระบบทางเดินหายใจ และอวัยวะที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น

  • ภูมิแพ้ จมูกอักเสบ

  • หอบหืด

  • ถุงลมโป่งพอง แม้ไม่สูบบุหรี่

  • หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง

  • มะเร็งปอด

  • เส้นเลือดหัวใจ / กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ระยะเวลาในการเป็นโรคอันตรายต่างๆ จากการสูดหายใจเอาฝุ่นละอองเหล่านี้เข้าไป ขึ้นอยู่กับปริมาณที่แต่ละคนสูดเข้าไปในร่างกาย พื้นที่ที่แต่ละคนอยู่ ภูมิต้านทานโรคของแต่ละคน และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5

กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 มากกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่

  1. เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อได้รับฝุ่นละอองมากๆ ก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้

  2. กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด โรคปอด โรคถุงลมอักเสบ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

วิธีป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5

  1. หลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกบ้านในเวลาที่มีประกาศเตือนฝุ่นละออง (สามารถเช็กได้ผ่านแอปพลิเคชั่น AirVisual >> แนะนำ App (ฟรี) เช็กค่าฝุ่นละอองที่มากกว่า PM 2.5 ทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล)

  2. หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอกในช่วงที่มีการเตือนถึงจำนวนฝุ่นละอองมากกว่าปกติ ควรสวมหน้ากาก N95 ทุกครั้ง เพราะหน้ากากอนามัยธรรมดาไม่สามารถกรองฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ (>> หน้ากาก N95 ช่วยชีวิตคนกรุงจากฝุ่นละออง PM 2.5)

  3. หากไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกไปด้านนอก ควรอยู่ภายในบ้าน หรือภายในอาคาร ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท อุดรูรั่วตามช่องต่างๆ ด้วยผ้า หรือผ้าชุบน้ำ รวมถึงควรหมั่นทำความสะอาดมุ้งลวดให้สะอาด

  4. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ออกกำลังกาย ทำงานหนักๆ

  5. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก ต้องดูแลรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง

  6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทำอาหารที่มีควันเยอะโดยไม่มีเครื่องดูดควัน ใช้รถยนต์ที่มีควันจากท่อไอเสีย

  7. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป

  8. ดื่มน้ำมากๆ และงดสูบบุหรี่ในช่วงที่พบฝุ่นละอองในอากาศมาก 
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook