“เสาวรส” ทานมาก เสี่ยง “มะเร็งเต้านม” จริงหรือ?
ข่าวลือในโลกโซเชียลที่กำลังมีการพูดถึงกันอยู่ในช่วงนี้ คือเรื่องของการทาน “เสาวรส” อาจมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็ง และทำให้เป็นโรค “มะเร็งเต้านม” ได้ เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเอาไว้ดังนี้
จากที่เว็บไซต์หนึ่งระบุว่า "การทานเสาวรสติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 30%" แต่จริงๆ แล้วไม่เห็นมีงานวิจัยที่ระบุถึงเรื่องนี้ แถมจริงๆ แล้วเสาวรสน่าจะเป็นผลไม้ที่ช่วยต้านโรคมะเร็งได้ด้วยซ้ำ
“เสาวรสเป็นอาหารที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่ง เพราะเป็นแหล่งของวิตามินเอ (มีเบต้าแคโรทีน) วิตามินซี และเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำสูง จึงเป็นที่ทราบกันดีในคุณสมบัติที่ต้านอนุมูลอิสระได้ เส้นใยจากเมล็ดของเสาวรสยังช่วยเรื่องการทำงานของลำไส้เล็ก และน่าจะช่วยลดคอเลสเตอรอล แถมมีงานวิจัยจากบราซิลพบว่าสารสกัดจากเสาวรสมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากด้วย”
ส่วนในเรื่องของ เสาวรส กับการต่อต้านโรคมะเร็งเต้านมโดยตรง อาจารย์เจษฎา กล่าวว่า
“ส่วนมะเร็งเต้านมนั้น ถึงแม้ว่าเสาวรสจะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ก็ไม่ได้มีผลชัดเจนว่าช่วยต้านมะเร็งเต้านมเท่ากับผลไม้อื่น อย่าง องุ่น หรือราสเบอร์รี่ ขณะที่งานวิจัยพืชของบราซิลในปี 2007 ไม่พบว่าสารสกัดจากเสาวรสมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านม ในทางตรงกันข้าม เสาวรสมีสารแอนโธไซยานิน ชื่อ anthocyanin cyanidin-3-glucoside ซึ่งช่วยของการรักษามะเร็งด้วยวิธีคีโม และเพิ่มประสิทธิภาพของยา Herceptin”
สรุปส่งท้ายว่า การทานเสาวรสไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งอื่นๆ นอกจากนี้ทั้งเนื้อและเมล็ดของมันสามารถทานได้ (เฉพาะผลสุก เพราะผลดิบมีความเป็นกรดสูงมาก) ห้ามทานเปลือกเสาวรส เพราะมีสาร cyanogenic glycosides (เป็นต้นกำเนิดของสารไซยาไนด์ ที่เป็นพิษ)
>> วิธีเช็ก "มะเร็งเต้านม" ด้วยตัวเอง
>> 9 สาเหตุ “มะเร็งเต้านม” โรคที่คร่าชีวิตชาวไทยจำนวนไม่น้อยทุกปี
>> "เคมีบำบัด" ไม่จำเป็นต่อผู้ป่วย "มะเร็งเต้านม" ทุกคนเสมอไป
>>เสาวรส ควรกินวันละกี่ลูก พร้อมเมนูที่ได้ประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ