5 สัญญาณอันตราย “โรคหัด” ที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา
ในวัยทำงาน หรือวัยชราอาจจะไม่ค่อยได้พบเจอกับโรคหัดมากนัก เพราะโรคหัดมักเกิดขึ้นกับเด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นเสียมากกว่า แต่ด้วยอาการหลายๆ อย่างที่คล้ายโรคหวัด เลยอาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองชะล่าใจ และไม่ได้ส่งบุตรหลานไปรักษาจนมีอาการหนัก ทั้งหัดและหวัดแม้ว่าจะสะกดคล้ายกัน และอาการเริ่มต้นคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วมีสัญญาณอันตรายอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ที่เราควรสังเกตให้ดี
โรคหัด คืออะไร?
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เปิดเผยว่าโรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัส Measles พบได้ในจมูกและลำคอผู้ป่วย ติดต่อง่ายโดยการไอหรือจาม เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย
กลุ่มเสี่ยงโรคหัด
มักพบโรคหัดได้ในเด็กเล็กตั้งแต่อายุต่ำกว่า 1 ปี ไปจนถึงช่วงเริ่มจะเข้าสู่วัยรุ่น 13-18 ปี และยังสามารถพบได้ในวัยผู้ใหญ่หากมีภูมิต้านทานต่ำ และได้รับเชื้อไวรัสจากผู้ป่วย
สัญญาณอันตราย “โรคหัด” ที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา
- ไข้ มักมีไข้สูง และไข้กลับมาเรื่อยๆ เมื่อยาลดไข้หมดฤทธิ์
- มีผื่นแดงเป็นปื้นๆ พบได้ทั่วร่างกาย เช่น ใบหน้า คอ แขน ขา ท้อง หลัง ฯลฯ
- ไอแบบมีน้ำมูก มีเสมหะ
- เยื่อบุตาแดง
- มีจุดขาวที่กระพุ้งแก้ม
การป้องกันโรคหัด
โรคหัดอาจเป็นโรคที่อันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กกว่า 1 ปีที่ยังได้รับวัคซีนป้องกันโรคไม่ครบ ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพของเด็กเล็กให้ดี
อย่างไรก็ตาม โรคหัดเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ดังนั้นอย่าลืมฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และเข็มที่สองที่อายุ 2 ปีครึ่ง ผู้ปกครองจึงควรนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบถ้วนจะสามารถป้องกันโรคหัดได้