เวียนหัวเมื่อลุกยืน คุณอาจมีภาวะ "ความดันโลหิตต่ำ"
คุณเคยรู้สึกเวียนหัวเมื่อเปลี่ยนท่า เช่น จากการนั่งหรือนอนเป็นยืนขึ้น บ้างหรือเปล่า? อาการนี้อาจเกิดเพียงไม่กี่วินาทีหรือสองสามนาที แต่ภาวะ ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงก็เป็นได้
ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า คืออะไร
ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic or postural hypotension) หรือความดันตกขณะเปลี่ยนท่า หรือความดันโลหิตต่ำขณะลุกยืน เป็นความดันโลหิตต่ำในรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเปลี่ยนตำแหน่ง จากการนั่งหรือนอนเป็นยืนขึ้น อาการที่ชัดเจนมากที่สุดคือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือแม้กระทั่งเป็นลม ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่ามักมีอาการไม่รุนแรง โดยมักมีอาการจากไม่กี่วินาทีไปจนถึงสองสามนาทีหลังจากยืนขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่าที่มีอาการเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณของปัญหาต่างๆ ที่ร้ายแรงได้ ดังนั้น ให้ไปพบหมอหากคุณรู้สึกปวดศีรษะบ่อยๆ เมื่อยืนขึ้น อาจเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่า ที่ต้องไปพบหมอทันที หากคุณเกิดหมดสติขึ้นมา แม้เพียงช่วงสั้นๆ ก็ตาม
อะไรทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า
มีสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่า ก็อย่างเช่น
- ภาวะเกี่ยวกับหัวใจ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหาร
- ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท
ใครเสี่ยงที่จะเกิดอาการนี้?
ปัจจัยเสี่ยงสำหรับภาวะความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่า ได้แก่
- มีอายุมากกว่า 65 ปี ตัวเลขทางสถิติเผยว่า ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนพบได้ทั่วไป ในผู้ที่มีอายุ 65 ปี หรือสูงกว่า ความสามารถของเซลล์ชนิดพิเศษใกล้หลอดเลือดหัวใจและคอ ที่ช่วยจัดการความดันเลือดจะทำงานได้ช้าลงเมื่อเวลาผ่านไป
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด มีความเสี่ยงสูงในการเกิดความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน ยาดังกล่าวได้แก่ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน ยารักษาภาวะซึมเศร้าบางชนิด ยาระงับอาการทางจิตบางชนิด และยาคลายกล้ามเนื้อ
- โรคบางชนิด ภาวะเกี่ยวกับหัวใจบางประการ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นในการมีความดันโลหิตต่ำ
- การสัมผัสกับความร้อน การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและความชื้นต่ำสามารถทำให้คุณมีเหงื่อออก และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หรือความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า
- การนอนติดเตียง หากคุณต้องนอนพักบนเตียงเป็นเวลานานเนื่องจากเจ็บป่วย คุณอาจอ่อนเพลียได้ ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนอาจเกิดขึ้นเมื่อคุณพยายามยืนขึ้น
- หลอดเลือดขยายตัว (Vasodilation condition) เกิดขึ้นเมื่อคุณตั้งครรภ์และความดันโลหิตมีโอกาสลดลง หลังจากคลอดบุตร ความดันโลหิตโดยรวมมักกลับคืนสู่ระดับเดิมก่อนตั้งครรภ์ จึงไม่จำเป็นต้องกังวล
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสิ่งไม่ดีต่อหลอดเลือด เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน
อาการความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าเป็นอย่างไร
สิ่งบ่งชี้และอาการทั่วไปของภาวะความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่า ได้แก่
- รู้สึกปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะหลังจากยืนขึ้น
- การมองเห็นที่ลดลง
- อ่อนเพลีย
- เป็นลม
- มึนงง
- คลื่นไส้
ควรไปพบหมอเมื่อใด
คุณควรไปพบหมอ หากคุณรู้สึกว่า มีอาการภาวะความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่าบ่อยๆ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจบ่งชี้ว่ามีปัญหาอื่นๆ ที่รุนแรง อาจมีประโยชน์ในการบันทึกอาการของคุณเมื่อเกิดขึ้น อย่างเช่น ระยะเวลาที่เกิดและคุณกำลังทำอะไรในเวลานั้น หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาที่อาจทำให้คุณ หรือคนอื่นเป็นอันตรายได้ ให้ปรึกษาแพทย์
อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
อาการแทรกซ้อนของความผิดปกติเกี่ยวกับอาการนี้ ได้แก่ การหกล้ม โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
การวินิจฉัยอาการ
เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แพทย์อาจแนะนำวิธีหนึ่งประการหรือมากกว่าดังต่อไปนี้
- การเฝ้าระวังความดันโลหิต
- การทดสอบเลือด
- การตรวจด้วย Electrocardiogram (ECG)
- การทดสอบความอึด
- การตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ
- การเคลียร์หู
ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่ารักษาได้อย่างไร
การรักษาความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่า ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ มีกิจกรรมหลายประการที่คุณสามารถลอง ซึ่งได้แก่ การดื่มของเหลวให้เพียงพอ เช่น น้ำ การจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การหลีกเลี่ยงการเดินในอากาศร้อน การยกศีรษะจากเตียงนอน และยืนขึ้นอย่างช้าๆ แพทย์อาจแนะนำการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เพื่อทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง หากคุณไม่เป็นความดันโลหิตสูง แพทย์อาจแนะนำให้คุณเติมเกลือมากขึ้นในมื้ออาหาร หากความดันโลหิตลดลงหลังรับประทานอาหาร แพทย์อาจแนะนำอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ
- การสวมใส่ถุงน่องรัด ประโยชน์ของถุงน่องรัดและผ้ารัดหน้าท้อง อาจช่วยลดการสะสมตัวของเลือดที่ขา และลดอาการของความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้
- การใช้ยาบางชนิด หากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ไม่ได้ผล ยาหลายชนิด ไม่ว่าใช้เดี่ยวหรือใช้ร่วมกัน อาจใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตต่ำในท่ายืน ยาที่ใช้ทั่วไป ได้แก่ ยาฟลูโดคอร์ติโซน (Fludocortisone) ยามิโดดรีน (midodrine) อย่างโปรอามาทีน (ProAmatine) ยาดรอกซิโดปา (droxidopa) อย่างนอร์เธร่า (Northera) ยาไพริโดสติกมีน (pyridostigmine) อย่างเรโกนอล (Regonol) หรือเมสทินอน (Mestinon) ยาแก้อักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID)
เราจะจัดการกับความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าได้อย่างไร
มีวิธีอย่างง่ายหลายวิธี ในการจัดการหรือป้องกันความดันโลหิตต่ำหรือตกจากการเปลี่ยนท่าอย่างเช่น
- ลองกินเกลือเพิ่มขึ้น ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และหลังจากปรึกษาแพทย์แล้วเท่านั้น เกลือในปริมาณที่มากเกินไป สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ เกินกว่าระดับที่ดีต่อสุขภาพ และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพประการใหม่ขึ้น
- รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ หากความดันโลหิตลดลงหลังรับประทานอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น การดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอช่วยป้องกันอาการต่างๆ ของความดันโลหิตต่ำได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนมีอาการแย่ลงได้
- การออกกำลังกายประจำวัน ให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อน่องก่อนลุกขึ้นนั่ง นอกจากนี้ ก่อนลุกจากเตียงนอน ให้นั่งที่ปลายเตียงนอนชั่วครู่ นอกจากนี้ การออกกำลังกายบ่อยขึ้นอาจช่วยลดอาการต่างๆ ของความดันโลหิตต่ำในท่ายืนได้
- หลีกเลี่ยวการก้มตัว หากคุณทำบางสิ่งหล่นลงบนพื้น ให้นั่งยองๆ เพื่อลดความเสี่ยง
- สวมใส่ถุงน่องรัดหรือผ้าพันหน้าท้อง ถุงน่องรัดหรือผ้าพันหน้าท้องมีประโยชน์ในการช่วยลดอาการต่างๆ ของความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้
- ลุกขึ้นอย่างช้าๆ คุณสามารถลดอาการเวียนศีรษะและมึนศีรษะ ที่เกิดขึ้นร่วมกับความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืนได้ ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งอย่างช้าๆ แทนที่จะลุกจากที่นอนทันทีในตอนเช้า ให้หายใจเข้าลึกๆ สองสามนาที แล้วลุกขึ้นนั่งอย่างช้าๆ ก่อนยืนขึ้น
- เพิ่มหมอนในการนอน การนอนโดยศีรษะยกขึ้นเล็กน้อย สามารถช่วยต้านผลกระทบของแรงโน้มถ่วงได้
- เคลื่อนไหวขาในขณะยืน หากคุณเริ่มมีอาการขณะยืน ให้ไขว้ต้นขาในรูปแบบกรรไกรและบีบขา หรือยกขาข้างหนึ่งลงบนชั้นหรือเก้าอี้ แล้วดันตัวมาข้างหน้าให้มากที่สุด การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้เลือดไหลเวียนจากขาไปยังหัวใจได้