4 พฤติกรรมทำลาย “สมอง” โดยไม่รู้ตัว
สมอง เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยเส้นประสาทที่มีความซับซ้อนนับล้านๆ เส้นแล้ว หากสมองทำงานผิดปกติแล้ว ยังส่งผลไปถึงอวัยวะส่วนอื่นๆ และไม่สามารถหามาทดแทนได้อีกด้วย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สมองถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย โดยมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหว การหายใจ เป็นต้น โดยควบคุมและสั่งการร่างกายให้ทำงานตามความคิด เพื่อให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข โดยสมองมีการทำงานตลอดเวลา ดังนั้นการใส่ใจพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติเพื่อให้สมองทำงานได้ดี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญเพื่อสุขภาพที่ดีของสมอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมร้ายๆ ที่อาจทำลายสมอง
4 พฤติกรรมทำลายสมอง
- ความเครียด เป็นผลร้ายต่อสภาพจิตใจ และส่งผลกระทบต่อสมองทำให้เสียสมาธิ หรือบางคนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
- สิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ การอยู่ในอากาศที่ดีจะทำให้สมองได้รับออกซิเจนเพียงพอ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่อากาศไม่บริสุทธิ์ หรือเต็มไปด้วยภาวะมลพิษทางอากาศตลอดเวลา
- สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำนอกจากทำให้เป็นมะเร็งปอดแล้ว ยังทำให้ร่างกายและสมองได้รับออกซิเจนลดลง และเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคประจำตัว บางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองหลายโรค โรคหลอดเลือด ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว ควรรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสีย เพราะการรักษาเมื่อเกิดการทำลายของสมองแล้วจะไม่สามารถทำให้สมองกลับมาทำงานได้สมบรูณ์ตามปกติ และจิตใจจะทำงานผิดปกติไปด้วย
5 วิธีบำรุงสมอง
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สมองยังมีความเกี่ยงข้องกับอารมณ์ การเรียนรู้ ทั้งนี้มนุษย์จึงควรหันมาใส่ใจพฤติกรรมพัฒนาสมอง โดยมี 5 พฤติกรรมดีดังนี้
- กินดี คือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ลดอาหารบางจำพวกโดยเฉพาะอาหารทีมีน้ำตาลสูง ซึ่งจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง
- ออกกำลังกายดี การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายโดยรวมและหลอดเลือดแข็งแรง ไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน
- นอนหลับพักผ่อนดี การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีเวลาพักเพื่อซ่อมแซมตัวเอง ดังนั้นควรมีเวลาพักผ่อนนอนหลับอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- คิดดี การฝึกคิด ฝึกลงมือทำ จะช่วยให้สมองเกิดการเรียนรู้ และพัฒนากระบวนการคิดให้รวดเร็วขึ้น
- สนทนาดี การฝึกสนทนาพูดคุยกับคนอื่นๆ เป็นประจำ สม่ำเสมอ จะช่วยให้สมองได้มีการฝึกฝนแก้ปัญหา ส่วนคนที่เก็บตัว ไม่พบปะผู้คน พบว่าสมองมีกระบวนการทำงานในการแก้ปัญหาที่ช้าลง