สัญญาณอันตรายโรค "หลอดเลือดสมอง" ที่คุณไม่ควรเพิกเฉย
มีหลายคนที่ไม่รู้จัก สัญญาณเตือนเริ่มแรกโรคหลอดเลือดสมอง สิ่งสำคัญเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองก็คือ ผู้เกิดอาการควรได้รับการรักษาภายใน 6 ชั่วโมงแรก การรักษาที่ชักช้าในหลายกรณี ทำให้ฟื้นตัวได้ยากมากขึ้น หรือกระทั่งไม่อาจที่จะรักษาเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงควรรู้จักอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อที่จะได้หาหนทางแก้ไขให้ทันท่วงที
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากอะไร
เช่นเดียวกับหลายส่วนในร่างกายของคนเรา เซลล์สมองจำเป็นต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากเลือดเพื่อความอยู่รอด โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นได้ เมื่อบางส่วนของสมองมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ โรคหลอดเลือดสมองมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือภาวะสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เกิดจากการขาดเลือดเมื่อหลอดเลือดอุดตัน ส่วนอีกชนิดคือภาวะเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการตกเลือดในสมอง ภาวะสมองขาดเลือดเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าร้อยละ 80 หากเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างกะทันหัน จะเรียกว่าเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) ภาวะนี้บ่งชี้ได้ว่า ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองอย่างถาวร ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจึงควรรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างจริงจัง สาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมองและภาวะ TIA เกิดจากโรคหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery Disease) ซึ่งหมายถึงการที่คราบไขมันเกาะอยู่ในหลอดเลือดแดงคาโรติด ปิดกั้นเส้นทางของเลือดที่จะขึ้นไปเลี้ยงสมอง ส่วนภาวะเลือดออกในสมองนั้นเกิดขึ้นได้น้อยกว่า โดยสาเหตุของภาวะเลือดออกในสมองนั้น เกิดขึ้นจากการแตกตัวของหลอดเลือดหรือการโป่งพองของหลอดเลือด (ซึ่งหมายถึงหลอดเลือดมีการขยายตัวเพราะผนังหลอดเลือดอ่อนแอ)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
การมีอาการดังต่อไปนี้ เพิ่มความเสี่ยงของคุณที่จะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น
- มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) หมายถึงอัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ
- หลอดเลือดอุดตันหรือแข็งตัว
- เคยมีประวัติเกิดภาวะ TIA
- เคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง
- เคยมีประวัติหัวใจวาย
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักจะเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน อาการโดยทั่วไปมีดังต่อไปนี้
- เกิดความรู้สึกชาหรืออ่อนแรงอย่างปัจจุบันทันด่วน บริเวณใบหน้า แขน และ/หรือขา โดยเฉพาะเกิดขึ้นกับร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
- เกิดความรู้สึกสับสน พูดลำบาก และพูดไม่เป็นภาษา
- มีปัญหาด้านการมองเห็น รวมถึงเห็นภาพซ้อน เห็นภาพพร่ามัว หรือเกิดภาวะมืดบอดในตาหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้าง
- เกิดความรู้สึกเวียนหัวอย่างกะทันหัน มีปัญหาในการเดิน สูญเสียการทรงตัว และการประสานงานของร่างกาย
- ปวดหัวหนักโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างกะทันหัน
การรักษาและการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
ปกติแล้ว โรคหลอดเลือดสมองจะถูกรักษาด้วยการใช้รังสีร่วมรักษา การใช้รังสีร่วมรักษามีอยู่ 3 หลักการดังต่อไปนี้
- สลายการอุดตันของเลือดในหลอดเลือด
- ขยายหลอดเลือดที่ตีบตัว
- ปิดหลอดเลือดที่แตกหรือโป่งพองในสมอง
การสังเกตร่างกายของตนเองอยู่เสมอ รวมถึงการรู้จักกับภาวะแรกเริ่มของโรคหลอดเลือดสมอง และการรักษาอย่างฉุกเฉินให้ทันเวลา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่รับประกันโอกาสรอดชีวิตทั้งสิ้น