อาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ พร้อมสาเหตุ และการป้องกัน

อาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ พร้อมสาเหตุ และการป้องกัน

อาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ พร้อมสาเหตุ และการป้องกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันมนุษย์เราทุกคนทราบกันดีว่ามีโรคชนิดต่างๆ เกิดขึ้นหลายโรค และสาเหตุส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นผลมาจากพฤติกรรมการหรือการกระทำของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในสังคม การทำงานหนักจนเกิดความเครียด การเลือกที่จะรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารเร่งด่วน อาหารไม่ครบทุกหมวดหมู่ อาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเพื่อชดเชยกับความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มของโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น 

โรคหัวใจ มีโรคอะไรบ้าง?

พล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคหัวใจ หมายถึงกลุ่มโรคที่มีผลต่อระบบหัวใจ เช่น

  • โรคหัวใจขาดเลือด

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

  • หัวใจล้มเหลว

  • โรคหัวใจอักเสบ

  • ลิ้นหัวใจรั่ว
     
  • โรคหัวใจรูมาติก

เป็นต้น

อาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ

อาการเริ่มต้นของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้น จะแสดงออกในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น 

  • วิ่ง เดินขึ้นบันได หรือเมื่อโกรธ จะรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจขาดเลือด จะแตกต่างจากการเจ็บแบบอื่น โดยจะเจ็บแน่นๆ บริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือสองด้าน บางรายจะเจ็บร้าวไปที่แขนซ้าย หรือมีอาการปวดไปถึงกรามคล้ายเจ็บฟัน เมื่อหยุดออกกำลังกายแล้วอาการเจ็บจะดีขึ้น แต่ถ้าเกิดการอุดตันของเส้นเลือดอาการเจ็บจะยังคงเป็นตลอดแม้หยุดออกกำลังกาย 
  • มีอาการหอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ

  • ใจสั่น

  • ขาบวม

  • อาจจะเป็นลม หรือมีอาการวูบร่วมด้วย 

สาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหัวใจ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ปัจจุบันสาเหตุที่พบมาก และเป็นอันตรายที่สุดคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่นำไปสู่อาการหัวใจวาย (Heart Attack) เดิมเชื่อว่าภาวะนี้เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน แต่ในปัจจุบัน (Heart Attack) ที่พบบ่อยมักเกิดจากผนังหลอดเลือดด้านในแตกจนเกิดการสะสมของลิ่มเลือดและนำไปสู่การอุดตันของเส้นเลือดแบบเฉียบพลัน ซึ่งการแตกของผนังหลอดเลือดด้านในนี้ เกิดจากภาวะ การอักเสบ (Inflammation) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจาก

  • อารมณ์แปรปรวน

  • อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

  • อนุมูลอิสระ

  • ภาวะความร้อนภายในร่างกาย

  • การทำงานของฮอร์โมน

  • การทำงานของประสาทอัตโนมัติ  

เป็นต้น 

ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้นควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ตัวเราเองก็สามารถสังเกตภาวะร่างกายตนเอง ซึ่งจะเป็นตัวนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ ได้แก่

  • ภาวะโรคอ้วน

  • เครียดมากจนเกินไป

  • อาการใจร้อน อารมณ์ร้อน

  • โรคเบาหวาน

  • ความดันสูง

  • ไขมันสูง

  • สูบบุหรี่

เป็นต้น 

การป้องกันโรคหัวใจ

การดูแลป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดนั้น ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

  1. ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานเป็นสิ่งที่จำเป็นควรทานแต่พอควร ไม่ควรให้อิ่มมากทุกมื้อ เลือกอาหารที่มีประโยชน์

  2. ไม่เครียด     

  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  4. พักผ่อนให้เพียงพอ และพอดี   

หากเกิดโรคขึ้นมาแล้วการรับประทานยาเป็นประจำ การผ่าตัด การทำบอลลูนขยายเส้นเลือดที่ตีบ นั้นเป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการเท่านั้นไม่ได้ทำให้หายขาดจากโรค การแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขแค่เพียงส่วนเล็กน้อยตรงบริเวณที่เส้นเลือดผิดปกติที่ยาวเพียงไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้นไม่ได้แก้ไขส่วนอื่นของเส้นเลือดที่ยาวมากมายที่มีอยู่ทั่วตัวเรา ถ้ามนุษย์เรายังคงดำเนินหรือมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตเหมือนเดิมก็อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกำเริบอีก

แต่ก่อนเราเชื่อว่า เมื่อป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วจะทำอะไรไม่ได้อีกต้องนั่งนิ่งๆ นานๆ แต่ปัจจุบันความเชื่อนั้นเปลี่ยนไป คนผ่าตัดหัวใจแล้ว ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ สามารถออกกำลังกายได้ไม่แพ้คนปกติ บางคนแข็งแรงสามารถเล่นกีฬาได้เหมือนนักกีฬาอาชีพ แต่การฟื้นฟูสภาพร่างกายนั้น ควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจ ซึ่งจะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook