ทำไม? นอนไม่หลับ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
การนอนหลับพักผ่อนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เราได้เป็นเจ้าของร่างกายที่สุขภาพดีไร้โรคภัย สังเกตได้ง่ายๆ ว่า หากช่วงใดที่คุณขาดการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ช่วงนั้นคุณก็จะอ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า เวียนศีรษะ หรืออาจจะป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ แต่จะอันตรายถึงชีวิตเลยหรือ?
ทำไม? นอนไม่หลับ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การนอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ สมองและร่างกายจะใช้ช่วงเวลาขณะหลับในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น การนอนหลับที่เพียงพอ จึงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิติที่ดี มนุษย์ใช้เวลานอนหลับ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ซึ่งความต้องการในการนอนหลับของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่ต้องการนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนนอนแค่วันละ 5-6 ชั่วโมง
แต่อย่างไรก็ตามทุกคนอาจประสบปัญหานอนไม่หลับขึ้นได้ โดยพบว่า ร้อยละ 10 พบปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งต้องใช้ยาเพื่อช่วยนอนหลับโดยพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ผู้ที่ทำงานเป็นกะผลัดเวร มักเกิดปัญหานอนไม่หลับง่ายกว่าบุคคลประเภทอื่น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขาดงานเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการนอนไม่หลับพบว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ภาวะตึงเครียดในชีวิตประจำวัน
- สภาพแวดล้อม
- ปัญหาการนอนที่มาจากโรคของการนอนหลับโดยตรง เช่น ภาวะหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับเป็นพักๆ
- โรคซึมเศร้า
- การเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น การเจ็บปวด อาการไอเรื้อรัง
เป็นต้น
ดังนั้นถ้ามีอาการนอนไม่หลับเลยมากกว่า 1 สัปดาห์หรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในเวลากลางวัน ไม่ควรนิ่งนอนใจควรปรึกษาแพทย์
วิธีฝึกตัวเองให้นอนหลับตามเวลาปกติ
- เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- ออกกำลังกายเบาๆ หลังตื่นนอน 10-15 นาที
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ตึงเครียดก่อนเข้านอน
- จัดห้องนอนให้มืดเงียบ สบาย มีอากาศถ่ายเท
- ไม่ควรนอนนานในตอนกลางวัน เพราะส่งผลให้นอนหลับยาก
- ไม่รับประทานอาหารมื้อเย็นมากเกินไป
อย่างไรก็ตามยานอนหลับไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับ เพียงช่วยให้อาการทุเลา การรักษาด้วยยานอนหลับต้องใช้ร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่ควรใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่หากใช้มานานควรค่อยๆหยุดยาอย่าหยุดยาอย่างกะทันหัน เพราะจะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับขึ้นอีก และไม่ควรใช้ยานอนหลับในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้ติดสารเสพติด ผู้ป่วยโรคตับ ไต และ ผู้สูงอายุ ซึ่งอาจมีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้ การปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนที่ถูกต้องและขจัดพฤติกรรมที่รบกวนการนอน ร่วมกับฝึกให้มีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการนอนหลับที่ดี โดยปฏิบัติต่อเนื่องอย่างน้อย 6-10 สัปดาห์ จะช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น