อันตราย! “โคลนผุด” ห้ามกิน-พอกตัว เสี่ยงติดเชื้อผ่านผิวหนัง

อันตราย! “โคลนผุด” ห้ามกิน-พอกตัว เสี่ยงติดเชื้อผ่านผิวหนัง

อันตราย! “โคลนผุด” ห้ามกิน-พอกตัว เสี่ยงติดเชื้อผ่านผิวหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาธารณสุขโคราชเตือนประชาชนทาโคลนผุดเสี่ยงโรคฉี่หนู-โรคผิวหนังหลังแห่กันไปกรอกใส่ขวดเอากลับบ้าน เชื่อรักษาโรคปวดเมื่อย ทาหน้าขาวใส บางคนนำน้ำไปดื่มและกราบไหว้บูชาว่าเป็นสิริมงคล สธ.ชี้ดินในทุ่งนามีสารเคมีตกค้าง นำพอกตัวพอกหน้าอาจทำให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าผิวหนัง

จากกรณีที่ชาวบ้านบ้านหนองกุงน้อย หมู่ 10 ต.โคกกระเบื้อง อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา และชาวบ้านใน จ.ชัยภูมิ พากันนำเอาขวดมาบรรจุโคลนที่ผุดขึ้นบริเวณกลางทุ่งนาเพื่อนำไปพอกตัว รักษาโรคปวดเมื่อย และนำไปพอกหน้าเพื่อให้ใบหน้าขาวใส ตามความเชื่อว่าเป็นโคลนวิเศษ รักษาโรคต่างๆ ได้ ขณะที่บางคนนำโคลนไปกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

>> โคลนลาวากลางทุ่งผุดเพิ่ม ผู้คนฮือฮาเจอหินคล้ายกุมาร ตอกย้ำความเชื่อ (มีคลิป)

นายอำนวย เนียมหมื่นไวย์ สาธารณสุขอำเภอบ้านเหลื่อม ได้ออกมาเตือนชาวบ้านด้วยว่า การกระทำดังกล่าวเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนู โรคผิวหนัง เนื่องจากความเป็น กรดเป็นด่างของดิน ในทุ่งนาที่ตกค้างจากสารเคมี เมื่อนำไปพอกตัว พอกหน้า อาจจะส่งผลทำให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังทางบาดแผลได้ จึงไม่ควรนำไปใช้ อาจจะส่งผลทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ

 

โรคอันตรายที่อาจมาพร้อมกับดิน-โคลนที่ไม่สะอาด

1. โรคฉี่หนู หรือเล็ปโตสไปโรซิส มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อเล็บโตสไปร่า ที่มักอาศัยอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของสัตว์ต่างๆ เช่น หนู สุนัข โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์เลี้ยงในบ้านอื่นๆ เมื่อเราติดเชื้อโรคชนิดนี้ อาจทำให้เรามีไข้ ปวดเกร็งตามขา เบื่ออาหาร เยื่อบุตาอักเสบ และหากติดเชื้อในกระแสเลือด อาจเสี่ยงตัวเหลือง ม้ามโต เกล็ดเลือดต่ำ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
>> โรคฉี่หนู ภัยร้ายคร่าชีวิตมนุษย์ช่วงฝนตก-น้ำท่วม

2. โรคเมลิออยด์ เป็นโรคติดต่อที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei (เชื้อเมลิออยด์) พบได้ทั่วไปในดิน และน้ำในแหล่งระบาด สามารถพบได้ในดิน และแหล่งน้ำทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยพบได้บ่อยที่สุดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน หากติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ติดเชื้อ เช่น ปอด ทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในข้อจนปวดบวมแดง และอาจพบฝีได้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ หากติดเชื้อหนักเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
>> ลุยน้ำลุยโคลนหน้าฝนระวัง! “เมลิออยด์” โรคติดต่ออันตรายถึงชีวิต

3. โรคผิวหนัง การสัมผัสกับสิ่งที่ไม่สะอาด อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองจนเป็นผดผื่นที่ต้องเสียค่ารักษาไปอีกนานได้ ยิ่งหากมีแผลที่เชื้อโรคสามารถเข้าไปได้ ก็ยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการมีแผลอักเสบติดเชื้อได้เช่นกัน

4. โรคตัวอ่อนพยาธิชอนไชผิวหนัง เป็นโรคที่เกิดจากตัวอ่อนพยาธิปากขอของสัตว์ เช่น สุนัข แมว แพะ แกะ ม้า สุกร โค หรือพยาธิเส้นด้ายของสัตว์ โดยตัวอ่อนพยาธิอาศัยอยู่ในดิน ส่วนใหญ่เป็นพยาธิปากขอ จะไชเข้าไปทางผิวหนัง ผ่านทางรอยแผลหรือรูขุมขนในผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น หรือชั้นหนังกำพร้า เกิดผื่นเส้นนูนแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่ตัวอ่อนพยาธิไชผ่าน ซึ่งทำให้มีอาการคันมาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
>> ระวัง! พยาธิไชตามผิวหนัง หากเดิน “เท้าเปล่า” บนพื้นดิน-ชายหาด

 

ดังนั้น เราจึงควรระมัดระวังไม่นำดินโคลนสัมผัสผิวหนัง หรือเอาเข้าปาก หากจำเป็นต้องสัมผัสกับดินโคลน ควรสวมถุงมือ รองเท้ายางขายาว และรีบล้าง ชำระล้างสิ่งสกปรก ฟอกด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook