กุ้งสุก VS กุ้งดิบ แบบไหนอันตรายต่อคน “แพ้กุ้ง” มากกว่ากัน?
คนที่มีอาการแพ้อาหาร โดยเฉพาะ “กุ้ง” มักมีอาการต่อชนิดของกุ้งที่ต่างกัน บางคนแพ้กุ้งตัวเล็ก บางคนแพ้กุ้งตัวใหญ่ หรือบางคนอาจจะแพ้แม้กระทั่งกุ้งแห้ง และอาการที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันด้วย เช่น บางคนทานแล้วคัน ปากบวม ลิ้นบวม ผื่นขึ้นทั้งคอ และแขนขา บางคนอาจแพ้นิดหน่อย ทานยาแปบเดียวหาย และบางคนก็มีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล
ด้วยความแตกต่างนี้ จึงเป็นที่มาของความจริงที่ว่า คนที่ “แพ้กุ้ง” อาจไม่ได้แพ้กุ้งทุกชนิดบนโลก แต่ร่างกายอาจมีปฏิกิริยากับกุ้งบางชนิดเท่านั้น
แพ้ส่วนไหนของ “กุ้ง” กันแน่?
ส่วนใหญ่แล้ว อาการแพ้กุ้งมักเกิดจากการแพ้โปรตีนที่อยู่ในกุ้ง ซึ่งมีโปรตีนอยู่หลายชนิดแตกต่างกันไปตามชนิดของกุ้ง เช่น Tropomyosin , Arginine kinase, Myosin light chain และ Sarcoplasmic binding protein หากเราแพ้โปรตีนชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในกุ้งชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจทำให้เรามีอาการแพ้ต้อกุ้งชนิดนั้นมากกว่ากุ้งชนิดอื่นๆ หรือในบางชนิดที่มีโปรตีนที่เราแพ้น้อย เราอาจกินกุ้งชนิดนั้นได้โดยไม่มีอาการแพ้ใดๆ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม การจะระบุให้ได้ว่าเราแพ้โปรตีนชนิดใด และโปรตีนชนิดนี้อยู่ในกุ้งชนิดใดบ้าง ก็เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ยังต้องหาคำตอบกันอยู่ ยังต้องศึกษาวิจัยลงรายละเอียดกันต่อไป
>> แห่แชร์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ รับสมัคร “คนแพ้กุ้ง” เข้าร่วมวิจัย “อาจกลับไปกินกุ้งได้”
กุ้งสุก VS กุ้งดิบ แบบไหนอันตรายต่อคน “แพ้กุ้ง” มากกว่ากัน?
ทราบหรือไม่ว่า การปรุงอาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่ออาการแพ้อาหาร โดยเฉพาะกุ้ง ในบางราย การ “ต้ม” หรือ “ทอด” กุ้ง อาจทำให้มีอาการแพ้กำเริบได้มากกว่าคนแพ้กุ้งที่ทานกุ้งดิบ ส่วนคนที่ทานกุ้งดิบแล้วมีอาการผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่ามาจากเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียที่มากับเนื้อสัตว์ดิบ อาจไม่ได้มาจากอาการแพ้โปรตีนในกุ้งเสมอไป
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแพ้กุ้ง และอยากทราบว่าตัวเองแพ้โปรตีนจากกุ้งชนิดไหน มีอาการอย่างไร และมีวิธีช่วยบรรเทาอาการแพ้กุ้งได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง ก่อนลองทานเองไปเรื่อยๆ เพราะอย่าลืมว่าอาการแพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อาจถึงชีวิตได้